เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 15 ต.ค. 2566 ที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายไชยา พรหมา รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อพบปะรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด รับฟังข้อคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค ต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด และพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ


นายไชยา พรหมา รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ พบปะรับฟังข้อมูล เกี่ยวกับกิจกรรม สหกรณ์โคนมขอนแก่นจำกัด รับฟังข้อคิดเห็น ตลอดจนประเด็นปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดขอนแก่น ว่า แนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ที่ประสบปัญหา ด้านภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ ในเรื่องของต้นทุน ทั้งผู้เลี้ยงโค สุกร ด้านปศุสัตว์ทุกชนิด สิ่งแรกที่เกษตรกรร้องขอคือ ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง ซึ่งต้นทุนอาหารสัตว์โดยเฉพาะวัวนม ซึ่งมีทั้งอาหารหยาบ อาหารข้น นั้น ตนมองว่า โดยเฉพาะอาหารหยาบ สามารถบริหารจัดการได้ ภายใต้โครงสร้างขององค์กรที่มีอยู่ ของ กระทรวงเกษตรฯ โดยใช้มาตรการในการส่งเสริม ให้ผู้เลี้ยงดำเนินการ ในด้านการจัดทำอาหาร และหัวอาหารเอง หรืออาจทำในรูปแบบของ Contract farming ระหว่างสหกรณ์ที่ประกอบกิจการ เช่น กิจการด้านธุรกิจอาหารสัตว์ควบคู่ไปกับสหกรณ์โคนม/โคเนื้อ ซึ่งหากเกิดความเป็นหุ้นส่วนขึ้นมานั้น สหกรณ์ และรายได้ที่เกิดขึ้นจะเป็นรายได้ระหว่างองค์กรต่อองค์กร


“เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยง ทั้งสหกรณ์โคนมและผู้เลี้ยงรายย่อยประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะด้านคุณภาพของอาหาร ที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำนมดิบ จากการรับทราบปัญหาของสหกรณ์โคนมที่จังหวัดขอนแก่น ทราบว่าปริมาณน้ำนมดิบ ในโคนม 1 ตัวใน 1 วัน ให้ผลผลิตได้ประมาณ 8 กิโลกรัม/วัน เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยระดับมาตรฐานที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อสค.) กำหนดเป็นมาตรฐานคือ อยู่ที่ 12 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งมีภาคเอกชนบางแห่งที่สามารถบริหารจัดการได้ สามารถได้น้ำนมดิบถึงวันละ 16 กิโลกรัม/วัน ดังนั้น หากอาหารมีคุณภาพจะทำให้ปริมาณน้ำนมมีคุณภาพมากขึ้น และในปัจจุบันที่เกษตรกรได้มีการเรียกร้องให้มีการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบในราคาที่สูงขึ้นนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ ครม.ที่จะให้การอนุมัติ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเรื่องไปแล้วดังนั้น ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาที่กำลังพยายามหาทางแก้ไขอยู่”


รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางในการให้ความช่วยเหลือพี่น้อง เกษตรกร ที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่อยู่ขณะนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านปศุสัตว์ ได้มีการให้ความช่วยเหลือ เช่น การช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยหลังจากเคลื่อนย้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของอาหารสัตว์ พื้นที่แปลงเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งจะมีคลังอาหารด้านปศุสัตว์ ตั้งอยู่กระจายทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ และ กรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทำเป็น ศูนย์เฝ้าระวังด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยจะมีคลังอาหารของปศุสัตว์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และสามารถระดมไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ นอกจากการช่วยเหลือด้านอาหารแล้ว ยังมี ด้านยารักษาโรคที่จะมากับน้ำท่วม ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว





