เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ เทศบาลนครขอนแก่น หลังจากที่เดลินิวส์และมติชนร่วมกันจัดทำ โพลเดลินิวส์ x มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? เป็นการรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน จากการสำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ตลอดจนประเด็นการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ของประชาชน




นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยถึงผลโพลเดลินิวส์-มติชนที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นลำดับแรก ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลค่าของชีพหลายอย่างซึ่งถือว่าตอบโจทย์การแก้ปัญหาปากท้องมาก ส่วนตัวมองว่าโดยกรอบโครงสร้างของรัฐบาลที่มีกระทรวงต่างๆ มีอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน มองว่าปัญหาทุกเรื่องเป็นปัญหาสำคัญดังนั้นจึงควรจะทำไปพร้อมๆกัน แต่อย่างน้อยที่สุดทุกเรื่องที่เป็นปัญหาของประเทศก็ควรจะทำควบคู่ขนานกันไป ยกตัวอย่าง เช่น กรณีเหตุการณ์ยิงที่พารากอน มองว่าเป็นปัญหาหรือไม่ เรื่องยาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดเป็นปัญหาหรือไม่ และเรื่องสงครามในขณะนี้ที่กำลังเกิดขึ้น หากค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าน้ำมันแพงขึ้น จะส่งผลกระทบกับการลงทุน
ดังนั้น จึงมองว่าการแก้ปัญหาของประเทศชาติภายใต้กรอบโครงสร้างของรัฐบาลทุกกระทรวงจึงควรที่จะต้องทำในหลายเรื่องคู่ขนานกันไป แต่การจัดลำดับให้ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นลำดับ 1 ที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลจะต้องทำเป็นอันดับต้นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับมาตรการการปรับขึ้นค่าแรงโดยหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในแต่ละจังหวัดและไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าแรงเป็นก้อนใหญ่ทำให้ฐานการผลิตหน่วยงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการลงทุนจำนวนมากที่อพยพออกจากเมืองไทยและย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ถ้ามองและเอาสิ่งนั้นไปเป็นบทเรียน โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงแต่ควรจะปรับในรูปแบบใดมากกว่า ดังนั้นการปรับตามฐานของทักษะน่าจะเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องและเหมาะสม
นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ตามโครงการดิจิทัลวอลเลต ถือเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่รัฐบาลควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เท่าที่ได้รับฟังผู้ว่าการแบงก์ชาติพูดถ้าแจกครบตามที่พูด 5 แสนกว่าล้าน GDP มันขึ้น 4% กว่า ดังนั้นถามว่ามีผลต่อ GDP ไหมสำหรับการแจกครั้งนี้ตนคิดว่ามันมีผลต่อ GDP แต่คำถามก็คือเมื่อได้รับเงินไปแล้วประชาชนใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ตามเจตนารมณ์หรือไม่อันนี้ก็ต้องดูอีกเรื่องหนึ่ง
นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกปัญหาของแต่ละกระทรวงได้เร่งแก้ปัญหาไปพร้อมๆกันด้วย