เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 13 พ.ย. 2566 ที่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พุทธอารยเกษตร มจร. วิทยาเขตขอนแก่น บ้านโคกสี ต.โคกสี อ.มือง จ.ขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น รักษารราชการแทนปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการจัดกิจกรรม “สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย มีพระราชพัฒนวัชรบัณฑิต, รศ.ดร. รองอธิการบดีวิทยาเขตขอนแก่น ,รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา ทองดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป วิทยาเขตขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่แทน รองอธิการบดีวิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนชาวตำบลโคกสี ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว








นายประจวบ รักแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรเจ้าของนาข้าวต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว หากไม่มีเงินทุนมากพอต้องอาศัยแรงงานในครัวเรือนเท่าที่มีอยู่ลงนาเกี่ยวข้าว ตีข้าวเองและนั่นหมายความว่า ต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ หากทำไม่ทันก็เสี่ยงสูงมากที่ต้องสูญเสียข้าวที่แก่งอมจนร่วงจากรวง การกิจกรรมสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ เป็นการชาวนาได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งการลงแขกเกี่ยวข้าวถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของสังคมชนบท ทั้งยังเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษ เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย
สำหรับประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสังคมในอดีต สำหรับคนอีสาน การลงแขกเกี่ยวข้าว หมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทน มีเพียงน้ำใจเลี้ยงข้าวปลาอาหารที่หาได้ในชุมชน หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่ง สู่อีกครอบครัวหนึ่ง ปัจจุบันประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนับวันจะสูญหายไป เนื่องจากเกษตรกรสมัยใหม่นิยมใช้รถเกี่ยวข้าว ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร แทนการใช้แรงงานคน วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่างการลงแขกเกี่ยวข้าว จึงพลอยสูญหายไปด้วย