วันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่ โรงแรมเจริญธานี ขอนแก่น นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด โดยมีนาวสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยผู้บริหาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม














นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่นานาประเทศ ถือเป็นวาระสำคัญของโลก และเป็นวาระสำคัญของประเทศไทย โดย กระทรวงฯ ตั้งเป้าการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นแกนกลางในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนภายในจังหวัด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเสมือนศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นได้เข้ามาใช้ประโยชน์ เกิดการบูรณาการการปฏิบัติสู่การลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มาใช้งานได้โดยสะดวกนำไปสู่การพัฒนาจังหวัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับภูมิอากาศ (Climate friendly) ของทุกภาคส่วน
รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ทส. ผลักดันให้เกิดการลดก๊าชเรือนกระจกในทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608 ควบคู่กับการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการปลูกป่า บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่า ทั้งในพื้นที่ของรัฐและของตนเอง และมีการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ก่อให้เกิดรายได้เสริมโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน T-VER สู่ระดับสากล ซึ่งจะเป็นการยกระดับความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและช่วยขยายการพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยไปในวงกว้างและเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น