พช.นครพนม นำสุดยอดผลิตภัณฑ์โอทอป จำหน่ายในสนามบินยกระดับภาพลักษณ์และเพิ่มช่องทางการจำหน่าย OTOP นครพนม

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานจังหวัดนครพนม ตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นครพนม ในพื้นที่ท่าอากาศยานนครพนม โดยมีนายปัญญา สัจธรรม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครพนม นายวิทวัส วงศ์เครือศร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม นางสาวพิมล โพนทราย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครพนม ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดนครพนม ผู้แทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม และนางปราณี เสริมสุข รองประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดนครพนม ร่วมการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

การเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นครพนม ในพื้นที่ท่าอากาศยานนครพนม เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ร่วมกับโอทอปเทรดเดอร์จังหวัดนครพนม และท่าอากาศยานนครพนม ผนึกกำลังรวมพลสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ยกระดับและเพิ่มช่องทางการจำหน่าย นำภูมิปัญญาท้องถิ่นบินทะยานสู่สากล ในพื้นที่ท่าอากาศยานนครพนม ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นครพนม ตั้งอยู่ ณ บริเวณประตูผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ พร้อมทั้งจัดแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยระดับ 3-5 ดาว ทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดนครพนม ตลอดจนเพื่อเป็นการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

สำหรับการดำเนินงานร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นครพนม ในครั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากท่าอากาศยานนครพนม โดยอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ยกระดับภาพลักษณ์ BRAND OTOP สนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สายตานักท่องเที่ยวในระดับสากล กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (ONE TAMBON ONE PRODUCT : OTOP) มาตั้งแต่ปี 2544 พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ยกระดับผลิตภัณฑ์ หล่อหลอมภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า เพิ่มมูลค่าความเป็นอัตลักษณ์ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และส่งเสริมช่องทางการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายในระดับสากล