วันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่หอประชุมศูนย์พัฒนาตำบลหนองหลวง ตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร นายณัฐวัสส์ วีริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครประธานในพิธีมอบโฉนดในโครงการ “KICK OFF” การมอบโฉนดเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร โดยมี นายชัยมงคล ไชยรบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดสกลนคร หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสกลนคร นายอำเภอสว่างแดนดิน ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองหลวงวิทยานุกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองหลวงศึกษา นายกเทศมนตรีตำบลหนองหลวง ผู้นำองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครองท้องที่ เข้าร่วมพิธี โดยการมอบโฉนด เพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2567 ให้แก่ เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร จำนวน 500 ราย 630 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,812 ไร่ 0 งาน 29 ตารางวา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ยังได้มอบมอบต้นกล้าพันธุ์ไม้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 500 ต้นกล้า อีกด้วย





สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) มีภารกิจจัดที่ดินรัฐ ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม โดยการออกเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้กับเกษตรกรนั้น เป็นหนึ่งเป้าหมายในการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลประสบผลสำเร็จ จึงพิจารณา ปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล และการพัฒนาสิทธิในที่ดินรัฐของ ส.ป.ก. ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
จังหวัดสกลนคร มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 1,301,698 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดสกลนคร 18 อำเภอ 77 ตำบล ผลการดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร ที่ผ่านมาได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินแล้ว 18 อำเภอ 74 ตำบล เนื้อที่ดำเนินการที่ดินของรัฐ จำนวน 1,090,658 ไร่ เกษตรกรได้รับการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว จำนวน 81,832 ราย 114,723 แปลง 993,757 ไร่ และดำเนินการที่ดินเอกชน จำนวน 6 แปลง เนื้อที่ ประมาณ 47 ไร่ โดยกำหนดแผนการออกโฉนดเพื่อการเกษตรให้เกษตรกรที่ได้มีการจัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 81,832 ราย 114,723 แปลง เนื้อที่ประมาณ 993,757 ไร่ โดยกำหนดแผนออกโฉนดให้เกษตรกร ในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น จำนวน 61,634 แปลง 514,678-2-56 ไร่ ประกอบด้วย
1) ปี 2567 จำนวน 15,463 แปลง เนื้อที่ 107,922-1-65 ไร่
2) ปี 2568 จำนวน 8,731 แปลง เนื้อที่ 77,194-3-86 ไร่
3) ปี 2569 จำนวน 9,752 แปลง เนื้อที่ 99,421-2-15 ไร่
4) ปี 2570 จำนวน 13,012 แปลง เนื้อที่ 110,751-3-36 ไร่
5) ปี 2571 จำนวน 14,676 แปลง เนื้อที่ 119,388-0-52 ไร่