สทน. ยกทัพนักวิจัยตะลุยถิ่นอีสานใต้ จัดกิจกรรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่น ด้วยการฉายรังสี” เพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่น ในจังหวัดบุรีรัมย์ สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี โดยร่วมกับ มรภ.บุรีรัมย์ จัดเป็นจังหวัดแรก พร้อมรับสมัครผลิตภัณฑ์เข้าประกวด “Product Champion” ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย
ดร.กนกพร บุญศิริชัย ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. เปิดเผยว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคใจในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ด้วย “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นสิ่งที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารฉายรังสีให้กับผู้ประกอบการ และจากการที่ปัจจุบันกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น หรือ Functional Foods กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น ในปี 2567 นี้ สทน. จึงได้ต่อยอดการยกระดับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชั่นด้วย












ด้านรองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เป็นสิ่งที่ มรภ.บุรีรัมย์ ให้ความสำคัญและศึกษาวิจัยมาโดยตลอด การที่ สทน. นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการฉายรังสี มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารพื้นถิ่น ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งนำองค์ความรู้และนวัตกรรมถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนวิธึคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ จากภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพความปลอดภัย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน
สำหรับการจัดกิจกรรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นและอาหารฟังก์ชั่นด้วยการฉายรังสี” ที่ มรภ.บุรีรัมย์ ในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจ มาเข้ารับการอบรม พร้อมนำผลิตภัณฑ์มาขอรับคำปรึกษาจากทีมนักวิจัยจากสทน. เช่น ไส้กรอกอีสาน แหนมเห็ด ปลาส้ม ปลาร้า กล้วยฉาบ และผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก แป้งจากข้าวหอมมะลิ (อาหารฟังก์ชั่น) โดยหลังจากการอบรมในวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะทำงานร่วมกัน เพื่อเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมประกวด Product Champion โดย สทน.คาดหวังว่าจังหวัดบุรีรัมย์จะมีผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่นที่ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศต่อไป