จังหวัดขอนแก่นเตรียมเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเงินการคลัง และการใช้จ่ายงบประมาณ หรือ “คลินิกสุจริตจังหวัดขอนแก่น” (Khonkaen Strong Mobile Clinic) หลังผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานฯเพื่อให้คำแนะนำระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้อำนาจรัฐเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณถูกต้องโปร่งใส เป็นการคุ้มครองดูแลทั้งงบประมาณและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดการทุจริต







วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุม คณะทำงานให้คำปรึกษาด้านการเงินการคลัง และการใช้จ่ายงบประมาณ หรือ “คลินิกสุจริตจังหวัดขอนแก่น” (Khonkaen Strong Mobile Clinic) ครั้งที่ 1 เพื่อหารือแนวทางการวางกรอบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
ทั้งหน่วยงานหลัก 4 หน่วย คือ ป.ป.ช.ขอนแก่น /ป.ป.ท.เขต 4 /สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น /สำนักงานจังหวัดขอนแก่น /และตัวแทนหน่วยงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างโครงการรัฐ จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานทางหลวงที่ 7 สำนักชลประทานที่ 6 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดขอนแก่น สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
การประชุมครั้งนี้กำหนดแนวทางว่า หน่วยงานหลัก 4 หน่วยจะบูรณาการทำงานร่วมกันโดยเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาฯ หรือ “คลินิกสุจริตจังหวัดขอนแก่น” ใน 4 หน่วยงานหลักจะขึ้นป้ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดพื้นที่ และประชาสัมพันธ์เชิญชวน สร้างความเชื่อมันให้กับข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อลดคดีทุจริตตั้งแต่ต้นทาง คือตั้งแต่เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างเริ่มกำหนดราคากลาง ขอบเขตงาน ทีโออาร์ ประกาศเชิญชวน สามารถดำเนินการอย่างถูกต้อง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาลดปัญหาการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง
ถ้าต้นน้ำทำได้ถูกต้อง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ จะลดปัญหาการฮั้วประมูล และเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารสัญญา การควบคุมงาน และการตรวจรับพัสดุหากเจอปัญหา สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. คลังจังหวัดได้ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดและถูกดำเนินคดี
ท้ายที่สุดการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ หากมีการร้องเรียนพบกระทำความผิด ก็มีกลไกการคุ้มครองพยาน ปกป้องคุ้มครองข้าราชการระดับล่างที่ขาดเจตนากระทำผิด หรือถูกบังคับซึ่งได้ให้ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวกับ”คลินิคสุจริต” ในการหารือมาแต่ต้นตาม มาตรา 130-มาตรา 135 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.2561
นายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้วางแนวทางการทำคลินิกสุจริต ระบุว่า โมเดลการทำงานแบบนี้เคยถูกใช้ในจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และล่าสุดที่จังหวัดขอนแก่น จะมีความสมบูรณ์มากที่สุด หลังจากมีคำสั่งจังหวัดขอนแก่น ที่ 440/2567 ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานให้คำปรึกษาฯ “คลินิกสุจริตจังหวัดขอนแก่น”
หลังจากการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายเลขาจะเขียนร่างแนวทางการทำงานของ“คลินิกสุจริตจังหวัดขอนแก่น” เพื่อนำไปสู่การวางกรอบการทำงานที่ชัดเจน รวมทั้งมีการจัดอบรม และลงพื้นที่ติดตามให้ปรึกษาข้าราชการแต่ละหน่วยงานที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างตามงบประมาณประจำปี 2567 โดยเฉพาะโครงการที่มีความเสี่ยงและซับซ้อน ใช้งบประมาณสูงจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
สำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น จะนำโครงการคลินิกสุจริต เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการผลักดันจังหวัดและกรมการจังหวัด ซึ่งการดำเนินงานมีความเกี่ยวเนื่องกันในการป้องกันการทุจริตในจังหวัดขอนแก่นประกอบกับ ป.ป.ช./ป.ป.ท./สำนักงานจังหวัดขอนแก่นเป็นเลขาคณะกรรมการผลักดันจังหวัดขอนแก่น ในการขับเคลื่อนงานป้องกันการทุจริตร่วมกัน
ด้านนางวิชิตา เลิศพุทธิพงศ์พร คลังจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า การแต่งตั้งคณะทำงานให้คำปรึกษาฯ มีความสำคัญ เพราะจะทำให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้คำปรึกษาในแต่ละโครงการ โดยเฉพาะตั้งแต่ขั้นตอนการคำนวนราคากลาง ที่ยังพบว่าช่างของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังคำนวนผิด หากทำได้ถูกต้องรวดเร็ว ตามโปรแกรมของกรมบัญชีกลาง จะนำไปสู่การกำหนดราคากลาง ทำร่างขอบเขตงานหรือ ทีโออาร์ อย่างรอบคอบและรวดเร็ว ช่วยลดการร้องเรียนหรืออุทธรณ์ นำไปสู่การดำเนินโครงการและเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย ซึ่งหลังจากนี้คลินิกสุจริตจะจัดอบรมให้กับ ช่าง อปท.ในจังหวัดขอนแก่น เป็นกลุ่มแรก