วันนี้ (5 ส.ค. 67) นายปาณิดล ปัจฉิมสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะทูต และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย จำนวน 60 คน ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดสกลนคร ภายใต้หัวข้อ “มนต์เสน่ห์แห่งภาคอีสาน จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสร้างสรรค์” The Charm of Isaan : Transforming Local Wisdom into Creative Economy” รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ โดยมีกำหนด 2 วัน ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2567









ภาคเช้า คณะทูต และสื่อมวลชนต่างประเทศฯ เดินทางไปยังชุมชนภูไท บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมี นายชยุต วงศ์วณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นางสาวจิราภรณ์ เบิกบานดี นายอำเภอเมืองสกลนคร หัวหน้าส่วนราชการ ชาว ชุมชนภูไทบ้านโนนหอม ร่วมให้การต้อนรับ มีการผูกผ้าขาวม้า พร้อมมอบมาลัยดอกพุด ดอกรัก และมอบพัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จักสานของชาวชุมชนเป็นที่ระลึก เมื่อเข้าสู่ศาลาการเปรียญภายในวัด บ้านโนนหอมซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีผูกข้อต่อแขน ซึ่งเป็นประเพณีการต้อนรับ ของชาวอีสาน ชมการแสดงศิลปะวัฒนธรรม ด้วยการฟ้อนภูไทและรำมวยโบราณ โดย “บ้านโนนหอม” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425 ปัจจุบันยังคงช่วยกันรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวภูไทไว้ได้เป็นอย่างดี จากนั้นคณะทูตและ สื่อมวลชนต่างประเทศ ได้ร่วมชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ชุดภูไทพร้อมเครื่องประดับ ผ้าขาวม้า ผ้าย้อมคราม ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ ผลผลิตทางการเกษตร และเนื้อโคขุนโพนยางคำ
ต่อมาคณะทูตและ สื่อมวลชนต่างประเทศฯ ออกเดินทางต่อไปยัง โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร โดยมีนายอิทธิพล จันทนันต์ นายอำเภอโคกศรีสุพรรณ นายธนฤทธิ์ รัชตะประกร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สำนักชลประทานที่ 5 จังหวัดอุดรธานี และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูล โดยคณะทูตฯ ได้ศึกษาดูงานบริเวณประตูระบายน้ำและพื้นที่โดยรอบโครงการฯ
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ดำเนินการศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการฯ เมื่อปี 2562 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการฯในปี 2569 ประโยชน์ของโครงการฯ สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ได้ร้อยละ 40 และผันน้ำลงลำน้ำก่ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุงและลำน้ำก่ำ สามารถส่งน้ำเพื่อให้ราษฎรใช้ อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร จำนวน 10,857 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 78,358 ไร่
ต่อมาคณะทูตฯ ยังได้เดินทางไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร คณะผู้แทนจาก กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูล โดยมีการบรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ พร้อมนั่งรถรางเยี่ยมชมภายในบริเวณ ศูนย์ศึกษาฯ ชมการสาธิตและบรรยายสรุปในฐานต่าง ๆ เช่น การปลูกหญ้าแฝก การปลูกข้าว การพัฒนาพันธุ์ปศุสัตว์ และการสาธารณสุข โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทย ที่อาศัยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบกับปัญหาหลัก 3 ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับดิน ปัญหาด้านแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่เพียงพอ และปัญหาด้านป่าไม้ ปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ ของประชาชนและแหล่งศึกษาดูงานของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วทุกภูมิภาค