
วันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่ห้องประชุมพระธาตุนคร ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ได้ต้อนรับนายมัจฮุยา คูมา ดุดต้า ผู้อำนวยการแผนกอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และนายสง่า สัตนันท์ ผู้จัดการแผนกอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง พร้อมประชุมหารือด้านการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการค้าภายในเขตภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ข้อมูลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ทั้งข้อมูลทั่วไปของจังหวัด ข้อมูลการค้าชายแดน และข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ในการรองรับนักลงทุน เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียวจังหวัดนครพนม โครงการศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โครงการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้ารองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เป็นต้น อีกทั้งได้หารือถึงการเข้าร่วมงาน China -ASEAN EXPO ในวันที่ 25 กันยายน 2567 ณ เมืองหนานหนิง เป็นต้น พร้อมกันนี้คณะสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ได้ตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) และเยี่ยมชมศูนย์ขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมด้วย














นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนม มีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุน ความร่วมมือกับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจังหวัดนครพนมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว จากเมืองรองไปสู่เมืองหลัก นครพนมมีเอกลักษณ์ของ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ มีอัตราการขยายตัวด้านท่องเที่ยวสูงสุดของภาคอีสาน 2 ปีซ้อน ส่วนการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) ช่วยเชื่อมการค้า การขนส่ง การท่องเที่ยวไปยังประเทศ สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ และรัฐบาลไทยกำลังก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จากบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มายังจังหวัดนครพนม คาดว่าอีก 4 ปีจะแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้การขนส่งทางราง ระบบโลจิสติกส์ จากประเทศไทยไปยังประเทศ สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ มีความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งจังหวัดนครพนมมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 1,300 ไร่ ซึ่งได้มีการลงนามการลงทุนไปแล้ว แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หยุดชงักไป ขณะนี้กำลังมีการติดตามเร่งรัดการลงทุนอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานอีกจำนวนมาก
นายมัจฮุยา คูมา ดุดต้า ผู้อำนวยการแผนกอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน กล่าวว่า สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ได้เป็นสถาบันการศึกษา แต่เป็นองค์กรไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ เป็นอิสระ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีน ในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ(SEZ)เพื่อการค้าภายในเขตภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งจะนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ไปปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์ ความต้องการของนักลงทุน กลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุนและการจัดกิจกรรมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุนต่อไป
ฃ