
อว.ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ผนึกพันธมิตรเปิดขบวนรถไฟ รอบปฐมฤกษ์ท่องเที่ยวสายอีสานตอนบน (ขอนแก่น – อุดรธานี – หนองคาย) โครงการวิจัย “การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสาน สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์


















วันที่ 23 ม.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ สถานีรถไฟ ขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิด การท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “รอบปฐมฤกษ์” ด้วยขบวนรถพิเศษโดยสาร SRT Royal Blosssom “ออนซอนอีสาน สำราญวิถี” โดยมี รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย ศ.ดร. อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณี พฤกษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผู้แทนหน่วยงาน และนักท่องเที่ยวร่วมงาน
รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Research Utilization; RU) จึงได้สนับสนุนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพช.) โดย แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งได้ออกแบบการจัดสรรทุนออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวมูลค่าสูงและกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในส่วนของกลุ่มการท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้มีการสนับสนุนประเด็นย่อยต่างๆ ได้แก่ การยกระดับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
“โครงการวิจัยนี้ เป็นการบูรณาการระหว่างทั้งสองกลุ่มหลัก คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือ เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (low carbon tourism) โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ดำเนินการพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือ ซึ่งการดำเนินงานพบว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และนักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางไปสัมผัสประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเส้นทางรถไฟ จนเป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว ตามนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND นำไปสู่การกระจายรายได้อย่างทั่วถึง”
ด้านศ.ดร. อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การท่องเที่ยว โดยรถไฟสายอีสานสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “รอบปฐมฤกษ์” ในครั้งนี้ เป็นโครงการวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมี หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นผู้ประสานงาน ภายใต้แนวทางการพัฒนาการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวแลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีการท่องเที่ยวโดยรถไฟเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่เมืองนำเที่ยว และชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยรถไฟ ทั้งในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ตลอดจนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต