
พบคุณป้าวัย 62 ปี ชาวตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เก็บหน่อผักพายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในท้องนามาสร้างมูลค่า ปลูกขายก้านดอกเป็นอาชีพเสริมทำเงิน เผยใช้พื้นที่เพียง 3 งานเก็บผลผลิตขายตลอดปี ระบุทำง่าย แทบไม่ได้ลงทุน มีรายได้วันละ 200-300 บาท บางเดือนมีออร์เดอร์เข้ามามาก มีรายได้กว่า 10,000 บาท ดีกว่าเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและปลูกข้าวเสียอีก

วันที่ 3 เมษายน 2568 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ในช่วงฤดูแล้ง พบว่ามีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ตามความถนัดและตามบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ ได้พบนางภาวิณี ภูบุญเติม อายุ 62 ปี เกษตรบ้านเชียงงาม หมู่ 22 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังเก็บก้านดอกผักพายจำหน่ายให้กับแม่ค้า เพื่อส่งขายตลาดเกษตรและตลาดไทรังสิต จ.ปทุมธานี จากการสอบถามระบุว่าเก็บขายทุกวันตามออร์เดอร์ โดยจะมีรายได้ประมาณวันละ 200-300 บาท

นางภาวิณี กล่าวว่า ผักพายหรือผักคันจอง เกิดขึ้นตามท้องนาโดยธรรมชาติ บางพื้นที่เรียกบอนจีน นางกวัก หรือตาลปัตรฤๅษี พบตามบริเวณนาข้าว และบริเวณที่มีน้ำขัง เหง้า ลำต้นฝังอยู่ในโคลน เจริญเติบโตเป็นลำต้นหรือก้านดอกก้านใบ สามารถเก็บมารับประทานได้ทั้งใบ ก้านใบ และดอก จึงได้ชื่อว่าเป็นผักอีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางอาหาร รับประทานได้ทั้งสดและทำสุก หากกินแบบสดจะได้รสหวานมันปนขม หากผ่านความร้อนแล้วรสชาติจะหวานขึ้นและขมน้อยลง

โดยจะนำก้านดอกและส่วนของใบอ่อนไปทำซุป แกงกะหรี่ แกงส้ม สลัด ทอด ผัด ที่นิยมกันมากที่สุดคือลวกกินกับส้มตำ จิ้มน้ำพริก เป็นเครื่องเคียงตำป่า น้ำยาขนมจีน แกล้มกับลาบ นำไปย่างเพื่อทำก้อยผักพาย หรือยำ ผัดกับน้ำมันหอย ผัดเต้าเจี้ยว นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น ช่วยแก้อาการท้องเสีย ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยลดไข้ แก้อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ ขยายพันธุ์โดยแยกเหง้าปลูก

นางภาวิณี กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่นาอยู่ในเขตใช้น้ำชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว จึงมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรปลูกข้าวนาปี นาปรัง พืชฤดูแล้ง อย่างข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว และตระกูลแตง ทั้งนี้ ตามที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่ทำนามีต้นผักพายหรือผักคันจองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และกำจัดยากมาก ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับชาวนา ทั้งแย่งปุ๋ยต้นข้าวและปกคลุมต้นข้าว ถือว่าเป็นวัชพืชอีกย่างหนึ่งทำให้ต้นข้าวไม่เจริญเติบโต และผลผลิตลดลง

“อย่างไรก็ตาม เดิมตนและชาวบ้านก็จะเก็บผักพายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไปรับประทานบ้าง ต่อมาพฤติกรรมในการกินของผู้คนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ร้านค้าทั่วไปมีการคิดสูตรตำป่า และเมนูต่างๆ เป็นทางเลือกที่หลากหลาย ไว้คอยบริการลูกค้า ประกอบกับผักพายมีการขยายพันธุ์มากขึ้น และกำจัดยากดังกล่าว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจึงเกิดไอเดียนำผักพายมาสร้างมูลค่าเป็นสินค้าจำหน่าย เพื่อเป็นเครื่องเคียงอาหาร หรือส่วนผสมประกอบอาหารพื้นบ้านต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่ที่เคยทำนาประมาณ 3 งานเป็นแปลงเพาะผักพายและขยายพันธุ์ เพื่อเก็บก้านดอกขาย โดยไปหาเก็บหน่อผักพายมาทำเป็นแปลงปลูกเพิ่มเติม 2 เดือนเริ่มเก็บผลผลิต” นางภาวิณีกล่าว

นางภาวิณีกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงแรกเก็บก้านดอกขายตามร้านค้าในหมู่บ้าน ต่อมาได้รับความนิยม มีแม่ค้าประเภทตำ และแม่ค้าตลาดสด หรือตลาดเกษตรในตัวเมืองกาฬสินธุ์ รวมทั้งแม่ค้าตลาดไทรังสิต จ.ปทุมธานี สั่งซื้อก็เก็บขายเรื่อยมา โดยจะขายเป็นกำๆ ละประมาณ 20 ก้านดอก ราคากำละ 2 บาท หรือหากรวบรวมบรรจุถุงใหญ่ จะขายราคาถุงละ 100 บาท เฉลี่ยมีรายได้วันละ 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ ถือว่าเป็นอาชีพเสริมทำเงิน ใช้เวลาว่างจากการทำนาเก็บก้านดอกผักพายขาย โดยลงแรงครั้งเดียว แทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ทำแบบสบายๆ ไม่เหนื่อย ไม่ใช่งานหนัก แต่สามารถเก็บผลผลิตขายได้ทั้งปี เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงแปลงผักพายตลอด จึงออกก้านดอกให้เก็บขายทุกวัน ทั้งนี้ จากการเก็บแบ่งพื้นที่ทำนามาเป็นแปลงปลูกผักพายขายก้านดอกดังกล่าว พบว่ารายได้ดีกวาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม หรือปลูกข้าวโพดและทำนา บางเดือนมีออร์เดอร์เข้ามามาก ทำให้มีรายได้กว่า 10,000 บาททีเดียว