
ชาวบ้านร่วมพิธีเสียเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ แบบโบราณดั้งเดิม ในประเพณีสงกรานต์ หนึ่งเดียวของภาคอีสานที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีนี้อยู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต้อนรับสิ่งดีดีเนื่องในปีใหม่ไทย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 เมษายน 2568 ที่วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ร่วมสืบสานงานประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิม ซึ่งจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมพื้นถิ่น เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญตามประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล และพิธีเสียเคราะห์ หรือพิธีสะเดาะเคราะห์แบบโบราณอีสาน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของงาน โดยมีการจัดพิธีอย่างครบถ้วนตามแบบแผนโบราณที่สืบทอดกันมานับร้อยปี สะท้อนความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า การเสียเคราะห์จะช่วยขจัดเคราะห์กรรม สิ่งไม่เป็นมงคล และนำพาความสุข ความเจริญมาสู่ชีวิตในช่วงปีใหม่ไทย







พิธีเสียเคราะห์จัดขึ้นภายในบริเวณ “สิม” หรือโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ของวัดไชยศรี โดยมีการจัดทำเครื่องเสียเคราะห์ในรูปแบบ “กระทงเสียเคราะห์” ขึ้นจากกาบกล้วยและไม้ไผ่ แบ่งออกเป็น 9 ช่อง ภายในบรรจุสิ่งมงคลตามความเชื่อ เช่น ข้าวตอก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย ข้าวหลากสี และด้ายสีต่าง ๆ ตลอดจนสัญลักษณ์ประจำปีเกิด ก่อนจะประกอบพิธีด้วยการสวดบทเสียเคราะห์โดยพระสงฆ์ ด้วยภาษาถิ่นอีสาน พร้อมการโยงสายสิญจน์จากองค์พระประธานไปยังผู้ร่วมพิธี เพื่อเชื่อมโยงจิตใจและความเชื่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติพื้นบ้าน หลังเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมจะนำกระทงเสียเคราะห์ไปทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ โดยมีข้อห้ามสำคัญคือ “ห้ามหันหลังกลับไปมอง” ซึ่งถือเป็นการตัดขาดจากเคราะห์กรรมอย่างเด็ดขาดตามความเชื่อดั้งเดิม โดยพิธีกรรมดังกล่าวนั้นถือเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านรอบวัดไชยศรี สืบสานต่อกันมาตั้งแต่โบราณ จนกลายเป็นหนึ่งเดียวในภาคอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับสิ่งดีดีที่จะเข้ามาเนื่องในวันปีใหม่ไทยของทุกๆปี
งานบุญสงกรานต์ที่วัดไชยศรีครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างวัด โรงเรียน หน่วยงานราชการ และชุมชนในพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ร่วมกันดูแลรักษาสิมวัดไชยศรีซึ่งเป็นโบสถ์อีสานเก่าแก่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น
กิจกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์อีสานเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสร้างความสุขให้แก่ผู้ร่วมงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างแท้จริง