
พบชาวบ้านในตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปลูกผักชะอม หรือขา (ภาษาอีสาน) ตามพื้นที่สวน แปลงนา เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตัดยอดส่งขายทำรายได้อย่างน้อยวันละ 500 บาท สุดทึ่ง! บางรายไม่เชื่อก็ต้องเชื่อรับเต็มๆวันละ 10,000 บาท ถือเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ ปลูกครั้งเดียวเก็บผลิตขายได้นานกว่า 10 ปี ได้ชื่อเป็น “ผักพูดเพราะ” (ผักขา) พืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ ราคาไม่ตก ขายเพียงมัดละ 10 บาท เปลี่ยนจากผักกลิ่นฉุนเป็นผักยอดนิยม สร้างมูลค่าเพิ่มและทำเงินก้อนใหญ่ สืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นต่อเนื่องกันมานานกว่า 40 ปี


วันที่ 20 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกชาว จ.กาฬสินธุ์ ช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝน ที่เริ่มจะมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว ส่งผลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่เพาะปลูกตามแปลงเกษตรทั่วไป แตกกิ่งใบและเจริญเติบโตตามฤดูกาล เช่นเดียวกับผักชะอม หรือผักขา (ภาษาถิ่นอีสาน) ที่นิยมเพาะปลูกกันมากตามพื้นที่ที่เคยว่างเปล่า ที่สวน ที่กำลังแตกกอ ชูยอดอวบสีเขียวขจี ให้เจ้าของมาเด็ดยอดไปมัดขาย และรับประทานเป็นผักสด หรือเครื่องเคียงประกอบอาหาร โดยเปลี่ยนมูลค่าในตัวเองจากยอดผักพื้นบ้านเป็นเงินตรา ว่ากันว่าหากคำนวณในภาพรวม มีราคาหลักหมื่นหลักแสนบาทต่อวันเลยทีเดียว


นางทองม้วน กล่อมจิตร อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 9 บ้านท่าสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผักชะอม หรือผักขา เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของตำบลลำพาน รองจากการทำนาปลูกข้าว ซึ่งปลูกกันมากที่บ้านดงเมือง บ้านท่าสีดา และบ้านท่าสินธุ์ สร้างรายได้เสริมสำหรับผู้ใช้พื้นที่ปลูกน้อย แต่เป็นอาชีพหลักสำหรับคนที่ใช้พื้นที่ปลูกบริเวณ ใช้ต้นกล้าปลูกครั้งเดียว แต่สามารถเก็บผลผลิตคือส่วนของยอดอ่อน สำหรับรับประทานและเพื่อการค้าขายได้นานกว่า10 ปี นอกจากนี้ยังทนฝน ทนแล้ง ไม่มีศัตรูพืชรบกวน โดยเฉพาะมีรายได้ทุกวัน แรกๆตลาดจำหน่ายที่ตลาดเกษตร ตลาดสดทุ่งนาทอง ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมามีพ่อค้า แม่ค้าคนกลาง มารับซื้อถึงที่ โดยนำส่งตลาดไทรังสิต และตลาดนัด ตลาดสดทั่วไป


นางทองม้วนกล่าวอีกว่า สำหรับตนใช้พื้นที่สวนประมาณ 3 งาน ปลูกผักชะอมมาประมาณ 5 ปี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-500 บาท เพราะทำตามแรงคนสูงอายุ ไม่ได้ใช้พื้นที่ปลูกมากเหมือนคนอื่น ขณะที่บางคนใช้พื้นที่ปลูก 5 ไร่ 10 ไร่ มีรายได้จากการเก็บยอดผักชะอมขายวันละ 10,000 บาททีเดียว ทั้งนี้การปลูกผักชะอมในพื้นที่ และมีการต่อยอดขยายผล ขยายพันธุ์ในพื้นที่ ต.ลำพานจนถึงปัจจุบันดังกล่าว เริ่มจากเจ้าหน้าที่เกษตรได้เข้ามาส่งเสริมพืชทางเลือกใหม่ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เพิ่ม ที่ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวนาปี หรือข้าวนาปรังอย่างเดียว โดยเริ่มเข้ามาส่งเสริมครั้งแรกที่บ้านดงเมืองเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา เมื่อเห็นว่าได้ผลและมีตลาดรองรับผลผลิต เกษตรกรให้ความสนใจก็เริ่มมีการขายพื้นที่ แบ่งพื้นที่สวน พื้นที่นามาเป็นแปลงเพาะปลูกผักชะอม ทำให้พื้นที่ ต.ลำพานมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งปลูกผักชะอมหรือผักขาแห่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้


“อย่างครอบครัวตนเคยทำนาปี ถึงฤดูแล้งทำนาปรัง ปลูกข้าวโพดและพืชผักสวนครัวบ้าง ระยะหลังต้นทุนทำนาสูงขึ้น และราคาขายข้าวเปลือกไม่แน่นอน ผลผลิตไม่คุ้มกับการลงทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยวข้าว ประกอบกับมีอายุมากขึ้น เรี่ยวแรงทำนาลดลง จึงหันมาปลูกผักชะอมเป็นอาชีพเสริม โดยซื้อต้นกล้าผักชะอมมาต้นละ 10 บาท ซึ่งปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่เปลืองน้ำ ไม่เปลืองปุ๋ย อายุ 6 เดือนเริ่มเก็บผลผลิตคือยอดอ่อนขาย การเก็บเกี่ยวก็ไม่เหนื่อย เก็บยอดตอนเช้าหรือเก็บได้ตลอดทั้งวันตามออร์ หรือตามที่สะดวก ถือเป็นการออกกำลังไปในตัว และรู้สึกเพลิดเพลินไปด้วยซ้ำ เพราะทุกยอดคือบาทเงินสิบเงินร้อยทั้งนั้น โดยจะขายเป็นกำหรือมัดละ 10 บาทเท่านั้น เก็บขายได้ทุกวัน หากไม่ขาดน้ำ บำรุงดีเก็บยอดขายได้ทุกฤดูกาลตลอดปี” นางทองม้วนกล่าว


สำหรับผักชะอม หรือภาษาอีสานเรียก “ผักขา” ซึ่งบางคนมีเรียกชื่อให้ใหม่ โดยล้อเลียนจากคำว่า “ขา” ว่า “ผักพูดเพราะ” นั้น ถือเป็นผักพื้นบ้านที่สร้างมูลค่า ได้มากกว่าคำว่าผักสดหรือผักพื้นบ้าน เพราะนอกจากจะนิยมเด็ดส่วนของยอดผักชะอมหรือผักขา มารับประทานกันแบบสดๆกับอาหารประเภทส้มตำ ลาบ ก้อย ป่น ขนมจีน หรือเป็นเครื่องเคียงประกอบอาหาร ประเภทไข่เจียว แกงส้มปลา แกงใส่หน่อไม้ หรือแกงไข่มดแดง ที่ให้รสชาติอร่อยอีกด้วย ทั้งนี้ ถึงมีคุณลักษณะส่วนตัวของผักชะอมจะมีกลิ่นฉุน แต่กลับให้รสชาติที่ออกเปรี้ยว มัน อร่อย บางคนที่ชื่นชอบเปิบอาหารที่มีผักชะอมเป็นส่วนประกอบ ถึงกับยกนิ้วให้ว่าเป็นสุดยอดผักพื้นบ้านที่ถูกปาก ถูกคอ ถูกใจ แถมยังสร้างอาชีพและรายได้มูลค่ารวมอย่างน่าทึ่ง ไม่ต่ำว่าวันละหลายหมื่นถึงแสนบาทดังกล่าว