
บรรยากาศการซื้อขายแตงโม ที่ตลาดแตงโมแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซบเซาหนัก สวนกระแสจากทุกฤดูกาลที่ผ่าน ที่การซื้อขายจะคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฤดูแล้ง สภาพอากาศร้อน ถือเป็นผลไม้ประจำฤดูที่นิยมรับประทานดับร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ช่วงนี้กลับเงียบเหงา ผู้ประกอบการเผยสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ในรอบหลายปี ไม่ต่างกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด


วันที่ 28 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวติดตามบรรยากาศการซื้อขายแตงโม ที่ตลาดแตงโมโคกดอนหัน ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ตลาดซื้อขายแตงโมแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เคยมีการซื้อขายกันคึกคักเป็นพิเศษในฤดูแล้ง มีพ่อค้าคนกลางจากหลายจังหวัดมารับซื้อตลอดวัน ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกแตงโมลำเลียงผลผลิตแตงโมจากสวนมาวางจำหน่ายเช่นกัน แต่วันนี้กลับพบว่าเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่ต่างกับช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมา


นางบรรจง ภูจ่าพล อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 128 หมู่ 8 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นทั้งเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและขายแตงโมที่นี่มา 30 ปี เพิ่งจะมีฤดูร้อนปีนี้ที่ประสบปัญหาวิกฤตกว่าทุกปีที่ผ่านมา แตงโมที่รับซื้อไว้จากเกษตรกรและคาดว่าจะขายดี กลับขายแทบไม่ได้เลย สาเหตุเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมทั้งมีคู่แข่งทางการค้า โดยมีการโพสต์ขายทางออนไลน์ และมีการเชิญชวนรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการหลัก ที่เป็นทั้งเกษตรกรผู้ปลูกแตงโม และพ่อค้า แม่ค้าคนกลางที่ตลาดแตงโมโคกดอนหันได้รับผลกระทบโดยตรง


นางบรรจงระบุว่า เมื่อรูปแบบการค้าขายเปลี่ยนไป ผู้บริโภคหันไปนิยมซื้อทางออนไลน์ โดยส่วนหนึ่งไปซื้อตรงกับเจ้าของสวน มากกว่าที่จะมาซื้อที่ตลาดฯแห่งนี้ ที่จะได้แตงโมสดและราคาถูกกว่า ประกอบกับเข้าใจว่าการซื้อขายที่ตลาดแตงโมผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่อาจจะมีการบวกราคาเพิ่ม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งจึงทำให้ลูกค้าหายไป รวมทั้งมีผลไม้ประจำฤดูกาลชนิดอื่นๆ เช่น สับปะรด ลิ้นจี่ มะม่วง แตงไทย ที่ราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด ล้วนเป็นสาเหตุทำให้ยอดการจำหนยายแตงโมลดลง จนต้องมีการปรับลดราคาและเสี่ยงกับการขาดทุน เพื่อระบายแตงโมออก ก่อนที่จะเน่าเสีย ขายไม่ได้


“ราคาซื้อขายแตงโมปัจจุบัน เฉลี่ยทุกสายพันธุ์ กก.ละ 3-5 บาท หรือลูกละ 20-30 บาท ราคาต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสูงถึงกก.ละ 5-7 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยอมลดราคาลงมา เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค แต่ยอดขายก็ไม่ดีขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น มีการเปิดช่องทางขายทางออนไลน์ และมีผลไม้อื่นๆเข้ามาแทรกแซงตลาดดังกล่าว จากที่เคยหวังจะได้กำไร ก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ แค่ขายพอได้ทุนคืน พอประคองตัวไปวันๆ และผลแตงไม่เน่าเสียหาย ก็ถือว่าดีแล้วในช่วงนี้ เพราะหากขายไม่ได้ ผลแตงเน่า ก็เท่ากับว่าเกิดความเสียหาย ขาดทุนย่ำแย่กว่านี้แน่นอน” นางบรรจงกล่าวในที่สุด


อย่างไรก็ตาม ตามที่มีการประเมินสภาพเศรษฐกิจทั่วไปใน จ.กาฬสินธุ์ พบว่าขาดสภาพคล่องมานานหลายเดือน สังเกตจากเทศกาลปีใหม่ถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เคยคาดการณ์ว่าจะมีความคึกคัก แต่ภาพรวมยังคงชะลอตัว และซบเซาลงมาก แผงขายสินค้าทั่วไป ร้านค้าร้านอาหาร ยื้อไปต่อไม่ไหว ปิดตัวลงทุกวัน ถึงขนาดมีการเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ ทรุดต่ำเทียบเท่าช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทีเดียว จึงทำให้บรรยากาศการค้าขายฝืดเคือง และกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งอาชีพขายแตงโมที่ตลาดโคกดอนหันเป็นอย่างมาก