แบงค์ชาติอีสานห่วงภัยแล้งส่อเค้ารุนแรง ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยบวกด้านแรงงานที่กลับคืนถิ่นช่วงโควิดเกิดงานและอาชีพใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีเศรษฐกิจระยะยาว

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 พ.ค.2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายทรงธรรม ปิ่นโต ผอ.ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในไตรมาสแรกของปี 2566 อีสานยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับเศรษฐกิจประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่ส่งสัญญานดีขึ้นแต่ในภาคอีสานได้รับผลน้อย และส่วนหนึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยคือ กำลังซื้อลดลงจากรายได้ลดลง ค่าครองชีพยังสูงและผลของการระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลงไป การลงทุนภาคเอกชนยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจอีสานในไตรมาสแรกยังคงชะลอตัว
“ภาคอีสานยังคงมีปัจจัยบวกคือการใช้จ่ายภาครัฐ ภาคบริการที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 2 คาดการณ์ว่ายังคงชะลอตัวต่อเนื่อง สิ่งที่กังวลคือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อีสานที่ส่อเค้ารุนแรงจากอากาศร้อน ความชื้นในดินลดลงและปริมาณฝนน้อยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีถึง 48% ซึ่งอาจเกิดภัยแล้งรุนแรงส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร”

นายทรงธรรม กล่าวต่ออีกว่าเศรษฐกิจภาคอีสานยังมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาวคือการกลับมาของแรงงานคืนถิ่นที่กลับภูมิลำเนาในช่วงที่เกิดสถานกาณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาและยังคงอยู่ในพื้นที่ จึงจากการตรวจสอบพบว่ามีตัวเลขประชาชนเดินทางกลับมา 650,000 คน เป็นวัยแรงงานถึง 400,000 คน และเดินทางกลับทำงานประมาณ 80,000 คน จึงทำให้เกิดเป็นอาชีพใหม่เช่น ร้านคาเฟ่ การซื้อขายออนไลน์และการให้บริการส่งอาหาร ซึ่งการกลับมาของแรงงานจะทำให้ภาคบริกรและการค้าปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว