เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมการนำเสนอข้อมูลด้วยเรื่องเล่า โดยการอบรมมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพคณะอนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชนของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศปถ. 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ในเขตสุขภาพที่ 7 ให้มีทักษะการสื่อสาร และวิเคราะห์ความเสี่ยงทางถนนอย่างมีพลังด้วยเครื่องมือสะท้อนความเสี่ยง ผ่านเรื่องเล่า โดยการอบรมครั้งนี้ มีนายอภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดขอนแก่น ร่วมบรรยายให้ความรู้ และได้รับเกียรติจาก ดร.ประชาธิป กะทา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มาเป็นทีมวิทยากร ในการอบรมตัวแทนคณะอนุกรรมการเด็กและเยาวชนกว่า 70 คน





โดยจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือนำเสนอสถานการณ์ความเสี่ยงทางถนน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ในระดับพื้นที่ นำมาวิเคราะห์และพัฒนาสถานการณ์จริงที่พบมา สู่การสร้างเรื่องเล่าเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้คนให้เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญของสถานการณ์ความเสี่ยงทางถนนที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญ
นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้จะมีมาตรการการจัดการเกิดขึ้นในระดับพื้นที่เพื่อการป้องกันและจัดการ แต่ในความเป็นจริงยังพบว่า สถิติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเด็นเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่ความสูญเสียคือการใช้จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย การขับขี่ด้วยความเร็วที่เกินกำหนด รวมไปถึงการขับขี่ในขณะมึนเมา ซึ่งการอบรมที่จัดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้คณะอนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชนทั้ง 4 จังหวัด ที่มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้น จะมีเครื่องมือและทักษะการทำงานที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานในพื้นที่ นอกจากจะช่วยผลักดันการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชนแล้วยังเป็นประโยชน์ในด้านการช่วยให้ ศปถ.จังหวัดมีกลไกสนับสนุนการทำงานเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้บรรลุเป้าหมายประเทศที่ 12 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570 ผ่านความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินงานร่วมกัน



ทั้งนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จับมือกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) มีกรอบการทำงานร่วมกัน 3 ปี เพื่อสร้างต้นแบบการใช้กลไกระดับพื้นที่ในการแก้จัดการปับปัญหา โดยกลไกคณะอนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชน คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเยาวชน โดยเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาของกลุ่มตนเองผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ร่วมกับ ศปถ.จังหวัด อำเภอและท้องถิ่นอย่างบูรณาการ เพื่อเป็นกลไกการจัดการปัญหาให้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย อันเป็นแนวทางนำไปสู่โอกาสการจัดการปัญหา ด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนในสังคม