วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่เทศบาลตำบลเวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานประชุมตรวจติดตามการทวนสอบโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.ท่าอุเทน โดยมีคณะทวนสอบจากหน่วยงานเอกชน คือ บริษัท บูโร เวอริทัส เชอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และมีนายอำเภอท่าเทน นายกเทศมนตรีตำบลเวินพระบาท เจ้าหน้าที่ ทต.เวินพระบาท และผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลและรายงานผลการดำเนินการในครั้งนี้


นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้สั่งการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตามแนวทางและแผนปฏิบัติการที่กำหนด โดยให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกในครัวเรือน เพื่อช่วยลดขยะที่ต้นทาง ลดภาระทางงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะ และยังช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทำให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยในโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน “การดำเนินการครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ทุกโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนให้ครบ 100% พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and verification Body : VVB) ในขั้นตอนการรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำมารับรองคาร์บอนเครดิตได้ โดยมีระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2569 สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาล และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการแก้ไขปัญหาขยะ ตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะ การส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง กลางทาง คือ การจัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและกำจัดให้หมดไป”




