วันที่ 18 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ที่บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 4 ต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ได้รวมกลุ่มสร้างพลังร่วมกันปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ แล้วจัดการใช้พื้นที่ เงินทุน แรงงาน หรือปัจจัยการผลิตที่ผสมผสาน ใช้เทคโนโลยีการผลิตหรือปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตมาตรฐาน นำทุกส่วนของต้นมันสำปะหลังมาสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมจัดหาตลาดจำหน่าย ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน









นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาด้านการผลิตและตลาดของเกษตรกร ภายใต้หลักคิด “การตลาดนำการผลิต” โดยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกมันสำปะหลังแปลงใหญ่ เพื่อร่วมกันพัฒนาการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอโพนสวรรค์ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรด้านความรู้วิชาการ การวางแผน การผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรร่วมกันบูรณาการผลิตเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนงานตามโครงการที่ท้าทายของหน่วยงาน และนโยบาย BCG Model ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจ สีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน


ด้านนางพรทิพย์ แก้วดี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ตำบลโพนสวรรค์ กล่าวว่า เดิมตนเองมีอาชีพการเกษตรทั่วไป และเริ่มปลูกมันสำปะหลังเหมือนเกษตรกรรายอื่น ๆ ทั่วไป แต่มีความต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ มันสำปะหลังมากขึ้น จึงได้เข้าไปเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการผลิตอาหารสัตว์จากหน่วยงานต่าง ๆ และมองว่าตลาดของกลุ่ม ผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดนครพนมหลายๆ กลุ่มเองก็มีความต้องการวัตถุดิบที่แปรรูปจากมันสำปะหลังอยู่จำนวนมาก จึงต้องการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อร่วมกันผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี เพื่อจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ โดยเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่ม เมื่อปี 2565 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 40 ราย และมีพื้นที่รวม จำนวน 318 ไร่ โดยทางกลุ่มมีการจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง การวางแผนแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยทางกลุ่มจะรวบรวมผลผลิต และเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้เลี้ยงโคในเขตอำเภอนาหว้า อำเภอปลาปาก และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากและมีการสั่งซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง







การบริหารกลุ่มด้วยความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก ร่วมมือกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาการผลิต ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพัฒนาการผลิต การเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เก็บเกี่ยวเมื่อมันสำปะหลังที่มีอายุเหมาะสม เพื่อให้ได้หัวมันที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากทุกส่วนของต้นมันสำปะหลัง เช่น นำเหง้ามันตากแห้งมาเผาทำเป็นถ่านเชื้อเพลิง หรือนำใบ ยอด หรือมันเส้น มาผลิตอาหารโคนม สูตร TMR (Total Mixed Ration) หรืออื่น ๆ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
1. นำใบและยอดมันสำปะหลัง จัดการสับย่อยและหมักเป็นส่วนผสมของอาหารโคนม สูตร TMR จำหน่ายในราคา กก.ละ 3 บาท
2. ต้นมันสำปะหลังคุณภาพ (พืชพันธุ์ดี) นำมาใช้เป็นท่อนพันธุ์ปลูก จำหน่ายในราคา ท่อนละ 5 บาท (500 ท่อน 300 บาท)
3. เหง้ามันสำปะหลัง เมื่อจัดการตากแห้งแล้วนำมาเผาในเตาเผาถ่านชีวมวลไร้มลพิษ (ไบโอชาร์) จะได้ถ่านเชื้อเพลิง และน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ป้องกันศัตรูพืช
4. หัวมันสด นำมาแปรรูปเป็นหัวมันสดหมัก มันเส้นสะอาด ส่วนหนึ่งนำไปใช้เป็นส่วนผสมอาหารโคนม สูตร TMR จำหน่ายในราคา กก.ละ 3.50 บาท
5. มันเส้น จำหน่ายในราคา กก.ละ 7 – 8 บาท
6. หัวมันสับ จำหน่ายในราคา กก.ละ 4 บาท
นางพรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการพัฒนากลุ่มและพัฒนากระบวนการผลิต กลุ่มเองมีเป้าหมายในการผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น และต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จากปัจจุบันกลุ่มสามารถผลิตมันสำปะหลัง อยู่ที่ 3 ตัน/ไร่ และปรับเพิ่มเป็น 5 ตัน/ไร่ ในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้น และเน้นการปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP ให้ได้ผลผลิตมาตรฐาน นำทุกส่วนของต้นมันสำปะหลังมาสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือเพื่อผลิตอาหารโค หรืออาหารสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกที่บริหารจัดการกิจกรรมกลุ่มประสบความสำเร็จที่นำไปสู่การเสริมสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนมั่นคง และมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังในทุกส่วนให้เกิดประโยชน์และมูลค่า เกิดรายได้ให้กับสมาชิกตามแนวทาง BCG Model ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบที่มีการรวมกลุ่มและขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งกลุ่มหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม และเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สอบถามเพิ่มได้ที่ นางพรทิพย์ แก้วดี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ตำบลโพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม โทร. 093-586-9442 หรือที่ สำนักงานเกษตรอำเภอโพนสวรรค์