วันที่ 13 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่โรงเรียนบ้านกุดหัวแฮด ตำบลทรายทอง และ โรงเรียนบ้านโคกล่าม ต.นากอก อ.ศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนไม่มีครูและนักเรียนมาหลายปี เนื่องจากจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กำหนด จึงสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำนักเรียนไปเรียนรวมกับโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง(โรงเรียนแม่))ซึ่งทั้ง 2 เขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดหนองบัวลำภู มี 27 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 1 มี 22 โรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 มี 5 โรงเรียน














ซึ่งตามหลักการบริหารผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนแม่ข่าย เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบโรงเรียนที่มีนักเรียนไปเรียนร่วม ตามระเบียบผู้บริหารโรงเรียนแม่ข่ายจะต้องมีมาตรการในการดูแลรักษา จัดเวรยามเฝ้าทรัพย์สินของทางราชการ หากมีทรัพย์สินเสียหายจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการทางวินัย แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารในแต่ละระดับขาดการกำกับดูแลและไม่ให้ความสำคัญของโรงเรียนที่ถูกยุบรวม ปล่อยให้มีสภาพเหมือนป่าดงดิบ และแหล่งมั่วสุมของเยาวชน
ซึ่งในวันที่ 3-4 ธันวาคม ศกนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี(ครม.)เดินทางมาประชุมสัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นครั้งแรก และโรงเรียนร้างกำลังเป็นประเด็นปัญหาที่ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทบทวนหลักเกณฑ์ เพื่อให้โรงเรียนที่ถูกปล่อยปะละเลยขาดการดูแลรักษา ปล่อยให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ถูกลักขโมย หญ้าขึ้นรกชัด กลายเป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชนโดยฉพาะยาเสพติด ซึ่งผู้นำของหมู่บ้านและผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานกลับเข้ามาเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน สะดวกในการดูแลและรับ-ส่ง ไม่กังวลต่อการประกอบอาชีพ หรือหากเป็นไปไม่ได้ก็ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจน หรือให้มีการส่งคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด เข้ามาดูแลหากมีหน่วยงานในพื้นที่ต้องการใช้ประโยชน์ทั้งด้านอาคารและสนามกีฬาที่มีอยู่
ในขณะที่ช่วงนี้ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยส่วนใหญ่นิยมใช้รถเกี่ยวข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาจะต้องนำข้าวเปลือกไปตากแดดในพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชน ทั้งเป็นลานปูน และสนามกีฬา ของโรงเรียนที่ไม่มีครูและนักเรียน จึงเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านในละแวกชุมชนจับจองพื้นที่ในการนำข้าวเปลือกไปตากแดด และพอตกช่วงกลางคืนก็นอนเฝ้าข้าวเปลือกป้องกันขโมยที่จะมาลักข้าวเปลือกไปขาย เพราะช่วงนี้ชาวนาส่วนใหญ่จะยังไม่รีบนำข้าวเปลือกไปขาย เพราะราคายังไม่แน่นอน กลัวโดนกดราคา แต่ถึงยังไงเสียชาวนาบอกว่าใกล้ๆเดือนมีนาคม ยังไงก็จะต้องนำข้าวเปลือกไปขาย เพราะจะต้องนำเงินไปส่ง ธกส.กัน ในขณะที่ชาวนาบางคนนำข้าวเปลือกไปตากภายในบริเวณลานวัดของวัดใกล้บ้าน ก่อนที่จะบรรจุใส่ถุงเก็บไว้ในบ้านหรือฉางข้าวของชาวบ้านแต่ละคน การนำข้าวเปลือกไปตากแดดของชาวนาจะต้องตากแดดอย่างน้อย 3 วัน เพื่อป้องกันความชื้นของเมล็ดข้าวก่อนนำไปเก็บหรือขายเพื่อใช้หนี้ที่ผ่านมา