เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นจากปรากฏการเอลนีโญ เน้นในเรื่องของการป้องกันและบรรเทาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงภาคการเกษตร มอบนโยบาย ปภ.ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ประหยัดการใช้น้ำ รวมถึงการเตรียมการป้องกันอัคคีภัย และปัญหา PM2.5 โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและให้การต้อนรับ









นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรับบาล และกระทรวงไทย โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและรายงานผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเตรียมการรับมือปัญหาภัยแล้ง โดยกล่าวว่า “ภัยแล้งในปีนี้คาดว่าจะทวีความรุนแรง มากขึ้นจากการคาดการณ์ของหลายฝ่าย ซึ่งมองไปถึงปัจจัยสำคัญคือปรากฏการณ์ เอลนีโญ ซึ่งหลายๆ พื้นที่ เริ่มมีสัญญาณความรุนแรงของภัยแล้งที่ค่อนข้างสูง ในเรื่องนี้ได้ให้ทาง ปภ.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือ โดยเน้นไปที่เรื่องของน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่ง ศูนย์ ปภ. ปภ.จังหวัด และจังหวัดขอนแก่น สามารถประสานไปยังกระทรวงหาดไทย เกี่ยวกับงบประมาณที่จะไปจัดเตรียมเครื่องมือและบุคลากรได้ทันที นอกจากนี้ ยังให้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในเรื่องน้ำในภาคการเกษตร และให้ทุกฝ่ายเร่งประชาสัมพันธ์ให้มีการประหยัดน้ำกันอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ
ขณะที่สถานการณ์เรื่องของปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปภ.และหน่วยงานอื่นๆในจังหวัดดำเนินการป้องปราม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรได้เข้าใจถึงปัญหาของการเผาซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่อาจกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยการทำงานเน้นการทำงานในเชิงรุก คือเน้นไปที่การป้องปราม มากกว่าการจับกุมดำเนินคดี แต่ก็จะต้องมีการตรวจสอบและมีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มข้นควบคู่กันไป ซึ่งการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องปรามการเผาอย่างเข้มข้นจะยังช่วยในเรื่องการลดปัญหาอัคคีภัยในพื้นที่ซึ่งมักจะเกิดบ่อยครั้งในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย รวมถึงยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ปภ.ออกประชาสัมพันธ์ และเตรียมความพร้อมในเรื่องของการบรรเทาระงับเหตุให้ทันท่วงที เพื่อให้สามารถป้องกัน และลดหรือบรรเทาสถานการณ์จากหนักให้กลายเป็นเบาได้”