ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประเพณี 12 เดือน ประเพณีที่คนภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่อง ผี และพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ความประพฤติที่ดี












“ฮีตสิบสอง” ฮีต คือ จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม คนแก่โบราณแต่เดิม วางฮีตสิบสอง คือ เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม,เดือนยี่ – บุญคูณลาน,เดือนสาม – บุญข้าวจี่,เดือนสี่ – บุญพระเวส,เดือนห้า – บุญสงกรานต์,เดือนหก – บุญบั้งไฟ,เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ,เดือนแปด – บุญเข้าพรรษา,เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน,เดือนสิบ–บุญข้าวสาก,เดือนสิบเอ็ด – บุญออกพรรษา และเดือนสิบสอง – บุญกฐิน ส่วน “คองสิบสี่”ข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง “คอง” แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง หมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง “สิบสี่” หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ ขอไม่กล่าวถึง คนอีสานทั้ง 20 จังหวัด ในปัจจุบันปฏิบัติครบฮีตสิบสอง หรือ ทำเพียงบางเดือน ที่คิดว่าสำคัญกว่า อันเนื่องมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่เร่งรีบ แข่งขัน เพื่อความอยู่รอด แต่ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ยังปฏิบัติกันครบทั้ง 12 เดือน อย่างเคร่งครัด มิได้ขาดมากว่า 460 ปี โดยคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อและยึดถือ นำโดย เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม แสน นางแต่ง ไพร่น้อย และประชาชน ร่วมประกอบพิธีกรรม
เจ้าพ่อกวน ดร.ถาวร เชื้อบุญมี ผู้นำทางจิตวิญญาณ และวัฒนธรรม อำเภอ ด่านซ้าย ตำแหน่ง “เจ้าพ่อกวน” จะเป็นสายญาติของเจ้าพ่อกวนคนก่อนเสมอ ซึ่งเชื่อกันว่าบุคคลในตระกูลนี้ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองแต่โบราณ เจ้าพ่อกวนถือศีลแปดไว้ผมยาว เกล้าผมไว้กลางศีรษะ มีผ้าขาวคาดศีรษะ สวมเสื้อสีขาว นุ่งผ้า และมีผ้าขาวพาดบ่าเสมอ เจ้าพ่อกวนมีหน้าที่เข้าทรง “เจ้าเมืองวัง” ในพิธีเซ่นไหว้ต่าง ๆ หรือ มีผู้อัญเชิญให้เข้าทรง เพื่อสอบถามสาเหตุหรือปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องการเจ็บไข้ เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุศรีสองรัก เจ้าพ่อกวนคนปัจจุบัน คือ นายถาวร เชื้อบุญมี เจ้าพ่อกวนคนที่ 7 ซึ่งได้รับตำแหน่งต่อจากบิดาคือ นายแถว เชื้อบุญมี
เจ้าพ่อกวนกล่าวว่า บุญเลี้ยงหอหลวง-หอน้อย เป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันมากว่า 464 ปี กำหนดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ถ้าปีไหนตรงกับวันพุธ จะเลื่อนไปทำในวันขึ้น 10 ค่ำแทน เนื่องด้วยวันพุธ เปรียบเสมือนวันของพระพุทธเจ้า เป็นวันบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ จะละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สุราเมรัย และถือศีลเป็นสำคัญ ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่ 15-17 มิถุนายน 2567 โดยวันที่ 14 มิถุนายน เป็นวันรวม ชาวบ้านส่วนใหญ่ จะทยอยเดินทางมาพร้อมสัมภาระ เสื้อผ้า นำข้าวสารเอามารวมกัน เพื่อหุงหาอาหารเลี้ยงดูกันจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีรวม 3 วัน นอกจากนี้ต้องนำ ไก่ หมู ตัวตุ่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ เหล้า มาเซ่นไหว้ เพื่อแก้บนตามที่มีใครบนไว้ตลอดปีที่ผ่านมา ในวันที่ 15 มิถุนายน 67 ขึ้น 9 ค่ำ อันเป็นวันแรกเริ่มพิธี ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้า ผู้คนที่มาร่วมงานต้องนุ่งขาวห่มขาวมารวมตัวกันที่บ้านเจ้าพ่อกวน โดยเจ้าพ่อกวนจะเดินนำไปประกอบพิธีกรรมกันที่หอหลวง ตามเส้นทางเดิมที่ใช้เดินมาแต่โบราณ จะมีพิธีฆ่าควาย เชิญวิญญาณเจ้าเมืองวัง เข้าทรงเจ้าพ่อกวน และทำพิธีบูชาสักการะ ห้ามมิให้ส่งเสียง พูดคุย หรือออกนอกบริเวณจนกว่าจะเสร็จพิธี
ส่วนใน วันที่ 16 มิถุนายน 67 ขึ้น 10 ค่ำ เป็นพิธีเลี้ยง “หอน้อย” หรือหอเจ้าแสนเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านเดิ่น ริมน้ำหมัน ในเขตเทศบาลตำบลด่านซ้าย ห่างจากบ้านเจ้าพ่อกวน ประมาณ 500 เมตร เป็นสถานที่สิงสถิตดวงวิญญาณของเจ้าแสนเมือง เจ้านายฝ่ายขวา เจ้าเมืองรุ่นแรก ที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้างมาปกครองเมืองด่านซ้าย พิธีกรรมคล้ายวันเลี้ยงหอหลวง เป็นพิธีถวายไก่ต้ม หมูต้ม ที่ชาวบ้านได้บนไว้ พร้อมจะนำด้ายสีขาวเข้าร่วมในพิธี นำกลับไปบ้านผูกข้อมือให้กับลูกหลานเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต หลังเสร็จพิธีเลี้ยงหอหลวง ในช่วงเย็นจะมีพิธีกรรมที่บ้านเจ้าพ่อกวน แจ้งแก่ดวงวิญญาณเจ้าเมืองว่า พิธีเลี้ยงหอในปีนี้ได้เสร็จลงแล้ว เป็นอันเสร็จพิธีและวันสุดท้ายช่วงเช้า วันที่ 17 มิถุนายน 67 ขึ้น 11 ค่ำ มีการทำพิธีเลิกคาย ณ บ้านเจ้าพ่อกวน พ่อแสนจะเก็บสินสอดที่ใช้ทำพิธีโดยการแข่งขันครูขึ้นคาย กลับมาไว้ได้หิ้ง ถือเป็นอันเสร็จพิธีประจำปีการหอหลวงหอน้อยความเชื่อ ความศรัทธา และยึดมั่น ในขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันมา ที่ยังคงอยู่ในจิตใจของชาวอำเภอด่านซ้าย เพื่อส่งต่อแก่คนรุ่นหลัง ให้ยังยืน และมั่นคงสืบไป