
“ศุภมาส” ร่วมผลักดันตั้งคณะแพทยศาสตร์ ม.นครพนม แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในกลุ่มอีสานตอนบน 1 และ 2 เพื่อผลิตแพทย์ให้พี่น้องคนอีสาน พร้อมนำนวัตกรรมช่วยผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ส่งเสริมการค้าในพื้นที่-กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ขณะที่ “หมอขวัญใจคนยาก-นพ.อลงกต มณีกาศ” สส.เขต 3 นครพนม พรรคภูมิใจไทย นำประชาชนในพื้นที่ขอให้กระทรวง อว. หนุนให้เกิดการตั้งคณะแพทย์ภายในปี 2570
เมื่อวันที่ 27 เม.ย.68 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) โดยช่วงบ่ายได้เดินทางไปที่โรงเรียนคำเตยอุปถัมภ์ ตำบลคำเตย อำเภอเมืองนครพนม เพื่อมอบนโยบาย “การขับเคลื่อนงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2” โดยมีนายแพทย์อลงกต มณีกาศ สส.จังหวัดนครพนม เขต 3 พรรคภูมิใจไทย หรือหมอขวัญใจคนยาก และนายชูกัน กุลวงษา สส.จังหวัดนครพนม เขต 4 พรรคภูมิใจไทย หรือนักการเมืองคนยาก มาต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนทั้งจากอำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน โพนสวรรค์ และอำเภอเมืองนครพนมเดินทางมาร่วมงานกว่า 500 คน

นายแพทย์อลงกต ได้นำเสนอความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องการให้กระทรวง อว.เข้ามาช่วย เรื่องแรก คือ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทั้งในกลุ่มจังหวัดอีสาน 1 และกลุ่มจังหวัดอีสาน 2 ทั้งสองพื้นที่ไม่มีนักศึกษาแพทย์ ไม่มีโรงเรียนแพทย์ โดยมหาวิทยาลัยนครพนมได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แต่แพทยสภายังไม่อนุมัติหลักสูตรให้ เพราะอ้างว่า ครม. ไม่จัดงบประมาณให้ โดยมหาวิทยาลัยนครพนมเสนอของบไป 2 พันล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์ในระยะเวลา 10 ปี อยากจะให้กระทรวง อว.ผลักดันให้เกิดการตั้งคณะแพทยศาสตร์ภายในปี 2570 ถ้า ครม.อนุมัติ มหาวิทยาลัยนครพนมจะรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก จำนวน 36 คน ที่เป็นคนจังหวัดนครพนมเท่านั้น เรื่องต่อมา อยากให้กระทรวง อว. ช่วยเรื่องงานวิจัยแปรรูปสินค้าการเกษตรเพื่อเกษตรกร โดยเฉพาะลิ้นจี่ นพ1 ของดีจังหวัดนครพนม และงานวิจัยด้านอาหารสัตว์ให้กับไก่สายพันธุ์ศรีโคตรบูรณ์ เพื่อให้ต้นทุนอาหารไก่ลดลง และที่สำคัญ อยากจะให้กระทรวง อว. มาช่วยทำเรื่องของการตลาด การขายสินค้าให้กับชาวบ้าน ซึ่งมีสินค้าพื้นเมืองดีๆ มากมาย แต่ชาวบ้านยังขายไม่เป็น

จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การมาลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม.สัญจรทุกครั้ง กระทรวง อว. คิดถึงพี่น้องประชาชนตลอด เพราะเรามาจากประชาชน รับรู้ทุกข์สุขของประชาชน กระทรวง อว. มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม สำหรับส่งเสริมอาชีพประชาชนและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ดิฉันเห็นถึงโอกาสของกระทรวง อว. ที่จะนำงานด้าน อววน. ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 โดยมุ่งสู่การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนำ อววน. ไปพัฒนาสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าสนับสนุนให้เกิดการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน สร้างโอกาสในการขับเคลื่อนมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยสินค้าชุมชน สนับสนุนการค้าในพื้นที่และระหว่างกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สำคัญ จะสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สามารถสร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่





“สำหรับข้อเรียกร้องของ สส. และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการผลักดันให้เกิดการตั้งคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนครพนม ดิฉันขอยกย่องมหาวิทยาลัยนครพนมที่มีความกล้าหาญ เพราะคณะแพทยศาสตร์จัดตั้งยากมาก ถ้าจัดตั้งได้ง่ายทุกมหาวิทยาลัยคงมีคณะแพทยศาสตร์ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนแพทย์ก็เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนทั้งกลุ่ม 1 และ 2 ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร เลย อุดรธานี เป็นต้น ไม่มีโรงเรียนแพทย์เลย ดังนั้น ดิฉันจะช่วยผลักดันให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตนักศึกษาแพทย์มาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวอีสาน” น.ส.ศุภมาส กล่าว
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้มอบนวัตกรรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้นำชุมชนและวิสาหกิจชุมชนจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย เครื่องลดมวลขยะอินทรีย์ 1 ชุด และไก่สายพันธุ์ศรีโครตบูรณ์ จำนวน 50 ชุด และมอบถุงบำรุงชีพให้แก่ตัวแทนประชาชน จำนวน 50 ถุง แว่นสายตา จำนวน 400 ชิ้น รวมทั้งมอบของที่ระลึกจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. จำนวน 400 ชิ้น ก่อนที่จะพบปะและพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่