เมื่อที่ 21 มิถุนายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคม ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายผ้าลายประจำจังหวัด จำนวน 76 ผืน แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2565 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

ในการนี้นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ผ้าไหมแพรวาลายนาค 12 แขน ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
“ผ้าแพรวา” เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอิสานทั่วไปเรียกผ้าชนิดนี้ ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงของชาวผู้ไทย ใช้ในโอกาสงานเทศกาลบุญประเพณี หรืองานสำคัญอื่นๆ ผ้าแพรวา มีความหมายว่า “ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน” ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอมือ มีกรรมวิธีการทอผ้าเพ่อให้เกิดลวดลายที่มีลักษณะผสมกันระหว่างลายขิดกับลายจก ลักษณะเด่นของการทอผ้าแพรวาจะต้องมีหลายๆ ลายอยู่ในผืนเดียวกัน ได้รับการขนานนามว่า “ผ้าไหมแพรวาสวยงามสมเป็นราชินีแห่งไหม ” โดยผ้าไหมแพรวา ลายนาค 12 แขน เป็นลายที่ยากที่สุดในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของตัวผ้าไหมแพรวา ลายดั้งเดิม การขิดไหมในการทอผ้าลายนาค 12 แขน จะต้องใช้ความละเอียดมากขึ้น เพราะตัวนาคจะมากกว่าลายทั่วไป





ทั้งนี้ความเป็นมาของผ้าแพรวา มีประวัติมากว่า 200 ปี ชาวผู้ไทยจากแคว้นสิบสองจุไทยได้อพยพมาประกอบอาชีพอยู่ในภาคอิสานหลายจังหวัด ซึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์มีชาวผู้ไทยอยู่ในหลายอำเภอโดยเฉพาะรอบเทือกเขาภูพาน ซึ่งชาวผู้ไทยมีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น และมีความชำนาญในการทอผ้า ซึ่งชาวผู้ไทย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอีกแห่งที่มีความโดดเด่นในเรื่องการทอผ้า และเป็นแหล่งไหมแพรวาที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน