วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่หอประชุมที่ว่าอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวง กรม และของจังหวัด พร้อมสร้างความเข้าใจและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ผู้นำต้องทำก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับประชาชนในทุก ๆ เรื่อง กับคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ในระดับอำเภอ ตำบล รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน





โดยในโอกาสนี้ยังได้พูดถึงแนวทางการพัฒนาอำเภอท่าอุเทน ที่จะมีการส่งเสริมการปลูกพืชหลังฤดูทำนา เพราะจากข้อมูลพบว่าในพื้นที่มีการปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด เช่น สับปะรด GI และแตงโมไร้เมล็ด ขณะที่บางคนเลือกที่จะทำนาปรังซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน อีกทั้งยังทำให้สภาพพื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกขาดแร่ธาตุเพราะเป็นการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำ ๆ ไม่มีการพักดินและปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งการทำการเกษตรแบบนี้จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจังหวัดนครพนมจึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทุกคนได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำเกษตรแนวใหม่หลังฤดูทำนา เริ่มตั้งแต่การตรวจวัดแร่ธาตุในดิน โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดำเนินการให้ความรู้และตรวจวัดแร่ธาตุในดินให้ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ หาว่าขาดแร่ธาตุอะไร ต้องปรับปรุงบำรุงดิน ส่วนไหน อย่างไร เพื่อให้ดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการปรับปรุงบำรุงดิน และ พิจารณาอีกครั้งว่าพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะปลูกพืชตัวไหน และที่ขาดไม่ได้คือการค้นหาและสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรรองรับการทำการเกษตรในช่วงนี้ ซึ่งจะมีทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำเดิม เพิ่มแหล่งน้ำใหม่ และเมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ ก็จะได้ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ดำเนินการขับเคลื่อนการเกษตรของชาวท่าอุเทนให้ไปสู่ความยั่งยืนที่พร้อมสร้างรายได้ให้กับทุกคนแทนการทำนาปรังที่มีความเสี่ยงมากในแต่ละปี โดยเบื้องต้นพืชที่จะมีปลูกหลังฤดูทำนา ที่มองไว้คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการประกันราคาให้ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูกทำให้ไม่มีความเสี่ยงแต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ส่วนการเลี้ยงสัตว์ก็มีแนวทางในการพัฒนาโคที่ชาวบ้านเลี้ยงโดยจะจัดหาน้ำเชื้อโคสายพันธุ์ดี ๆ มาให้ผสมเทียมเพื่อให้ทุกคนได้เลี้ยงโคที่มีความสมบูรณ์เวลาจำหน่ายจะได้ราคาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนผู้ที่มีโคสายพันธุ์ดีอยู่แล้วที่มีการเลี้ยงอยู่ประมาณ 5,459 ตัว ก็จะมีการถ่ายทอดความรู้ เทคนิค วิธีการและขั้นตอนเลี้ยง เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงไปจากเดิม ทำให้เมื่อจำหน่ายจะมีกำไรที่สูงมากขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ และสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจอื่น ๆ อีก