เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายณัฐวุฒิ นิลวิเชียร หัวหน้าสถานีควบคุมอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และกองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ได้ร่วมกับอำเภอภูกระดึง สถานีตำรวจภูธรภูกระดึง สัสดีอำเภอภูกระดึง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลภูกระดึง องค์บริหารส่วนตำบลศรีฐาน กำนันตำบลศรีฐาน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้จัดตั้งห้องควบคุมสถานการณ์ (War Room) เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยเชื่อมต่อกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) และจังหวัดเลย เพื่อสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า และได้ทำการปล่อยแถวชุดปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า บริเวณวงแหวนซำกกหว้า และบริเวณใต้ผาเมษา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และกองอำนวยควบคุมไฟป่าภูกระดึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว จึงจัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนในการเก็บแนวไฟที่เหลือเพื่อไม่ให้เกิดไฟลุกลามต่อไปอีก






ด้วยในห้วงระหว่างวันที่ 23 – 28 มีนาคม 2566 เกิดสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย จำนวน 9 จุดดังนี้ 1.บริเวณโคกผักหวาน 2.บริเวณแก่วลมตอนบน1 3.บริเวณแก่วลมตอนบน2 4.บริเวณดงซำเพียง 5.บริเวณภูปู่ล้านใหญ่ 6.บริเวณห้วยโป่งเอียด 7.บริเวณใต้แจตู้ 8.บริเวณใต้ผาเมษา 9.บริเวณวงแหวนซำหว้า พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 284 ไร่
อุทยานแห่งชาติภูกระดึงร่วมกับกองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง ได้ประเมินสถานการณ์แล้ว จึงได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าตามจุดที่เกิดไฟป่าทุกจุดและได้เตรียมความพร้อมโดยนำรถไถ รถน้ำ พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือดับไฟป่าและเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณช่องขอน แจตู้ ผาเมษาและหลังแปไม่ให้ไฟลุกลามขึ้นไปบนยอดภูกระดึง 2. ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้เอื้อต่อการเกิดไฟไหม้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่สภาพป่า เสี่ยงต่อความปลอดภัยที่จะเกิดกับชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว หรือประชาชน และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะขยายเป็นวงกว้าง 3. จัดตั้งห้องควบคุมสถานการณ์ (War Room)ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติภูกระดึง กองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง อำเภอภูกระดึง สถานีตำรวจภูธรภูกระดึง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลภูกระดึง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐาน กำนันตำบลศรีฐาน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ โดยเชื่อมต่อกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) และจังหวัดเลยเพื่อสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และกองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว และกำลังจัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนในการเก็บแนวไฟที่เหลือเพื่อไม่ให้เกิดไฟขึ้นอีก อนึ่ง การปฏิบัติงานควบคุมและดับไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 28 มีนาคม 2566 พบไฟไหม้ป่า จำนวน 44 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 921 ไร่








