วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในการประกอบพิธีสรงน้ำพระทอง – พระเทียม และพระติ้ว – พระเทียม ประจำปี 2566 ที่เทศบาลเมืองนครพนม และชาวชุมชนเมืองนครพนมร่วมกันจัดขึ้น ณ วัดโพธิ์ศรีและวัดโอกาสศรีบัวบาน ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยมีพระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำสวดชัยมงคลคาถา ก่อนอัญเชิญพระติ้ว-พระเทียม จากแท่นในวิหารนำขึ้นเสลี่ยงแห่รอบเมือง แล้วอัญเชิญขึ้นวางที่แท่นหน้าวิหาร ให้ผู้ศรัทธาเลื่อมใสได้มาสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว









โดยพระทองเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สกุลช่างล้านช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2066 เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านห้อม ต.อาจสามารถ ต่อมาในปี พ.ศ.2549 เจ้าเมืองนครพนมสมัยนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ศรี และชาวบ้านเห็นว่าพระทองเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์จึงได้ร่วมกันสร้างหอไว้ประดิษฐาน และในอดีตเคยอัญเชิญมาสรงน้ำในช่วงวันสงกรานต์ แต่มักจะเกิดปรากฏการณ์ท้องฟ้ามืดครึ้มและมีพายุฝนตกหนักทุกครั้ง ภายหลังจึงเปลี่ยนพระพุทธรูปเป็นองค์อื่นแทน ซึ่งพระพุทธรูปที่นำมาแทนพระทอง มีนามว่า พระเทียม
ส่วนพระติ้ว – พระเทียม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่แฝดคู่บ้านคู่เมืองชาวนครพนม มาตั้งแต่สมัยนครศรีโคตรบูรณ์รุ่งเรือง ซึ่งตามตำนานการสร้างในตอนแรกจะมีเพียงพระติ้วที่เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 39 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าสร้างประมาณปี พ.ศ.1238 โดยพระเจ้าศรีโคตรบูร เจ้าผู้ครองนครอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่ทรงโปรดให้นายช่างชาวลาวสร้างจากท่อนไม้ติ้วที่ทำไม้หมอนรองท้องเรือ ที่เกิดเหตุอัศจรรย์กระเด็นออกทุกครั้งที่ทำการชักลากเรือลงสู่แม่น้ำโขง ครั้นเมื่อสร้างเสร็จได้ทำการสมโภชเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง โดยประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุ หรือวัดพระธาตุทับเงา บ้านสำราญ ต.อาจสามารถ ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 6 กิโลเมตร ต่อมาในสมัยพระเจ้าขัตติวงศาฯ เกิดไฟไหม้หอพระติ้วไม่มีใครนำพระติ้วออกมาได้ พระองค์จึงสั่งให้หาไม้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแกะเป็นองค์พระแทนองค์เดิม โดยให้มีขนาดเท่ากันทุกประการ พร้อมจัดงานสมโภชให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแทนพระติ้วองค์เก่าที่เข้าใจว่าถูกไฟไหม้ไปแล้ว ครั้นเวลาผ่านไป 2-3 ปี ชาวบ้านไปหาปลากลางแม่น้ำโขงแล้วเกิดมีลมพายุหมุนกลางลำน้ำ จึงรีบนำเรือหลบบริเวณหัวดอนเกาะกลางน้ำ และได้เห็นพระติ้วลอยหมุนวนอยู่ในน้ำ พอลมสงบจึงได้อัญเชิญไปทูลถวาย และด้วยพระราชศรัทธาพระเจ้าขัตติวงศาฯ จึงทรงประทานทองคำหนัก 30 บาท ให้ช่างบุทองทั่วทั้งองค์ และประทานนามพระองค์เดิมว่าพระติ้ว ส่วนองค์ใหม่ประทานนามว่า พระเทียม จึงเกิดเป็นชื่อพระติ้ว พระเทียม พระคู่เมืองศรีโคตรบูรมาจนปัจจุบัน โดยวางคู่กันให้พระติ้วอยู่ด้านขวาของพระเทียม นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกอย่างคือองค์พระติ้วทำด้วยไม้ติ้วบุทองคำ ส่วนพระเทียมลงรักปิดทองคำเปลวแทน และในกาลต่อมาในปี พ.ศ.2281 ราชบุตรพรหมา (พรหมาบุตรเจ้ากู่แก้ว) เจ้าผู้ครองเมืองนครบุรีศรีโคตรบูรได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโอกาสศรีบัวบาน ด้วยเห็นว่าวัดธาตุสำราญไม่ปลอดภัย และชาวนครพนมก็ได้จัดพิธีสรงน้ำเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกปี