วันที่ 7 มิย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายเพทาย จรกระโทก นายอำเภอศรีบุญเรือง กล่าวภายหลังการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผช.ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นการประชุมประจำเดือนทุกเดือน โดยได้ทำความเข้าใจกับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบ กรณีปัญหาช้างป่า ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ตำบลโนนสะอาด และ ตำบลนากอก อำเภอศรีบุญเรือง จำนวน 2 เชือกที่สามารถบันทึกภาพได้ยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ทั้ง 2 ตำบลมาร่วมเดือน





ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเนื่องจากพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินเสียหายจากช้างป่า ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามปกติมาเป็นเวลากว่า 3 อาทิตย์ติดต่อกันทำให้ขาดรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และช้างป่าไม่มีท่าทีที่จะออกไปจากพื้นที่ ในทางกลับกันกลับมาหากินลึกเข้ามาในหมู่บ้านชั้นในเรื่อยๆและได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านในละแวกได้รับความเสียหาย
โดยก่อนหน้านี้ อำเภอได้เชิญผู้แทนจากส่วนอนุรักษ์ พื้นที่อนุรักษ์ ที่ 10 อุดธานี หน.ศูนย์วิจัยสัตว์ ป่าภูหลวง หน.ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทน ปภ.จว.นภ.คณะผู้บริหาร อปท.พื้นที่ ตำบลนากอก และโนนสะอาด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลนากอก ตำบลโนนสะอาด ประชุมร่วมกันเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปร่วมกันคือในระยะเร่งด่วนให้ผู้บริหารของ อบต.นากอก และ ทต.โนนสะอาดจัดอบรมชาวบ้านให้รู้จักพฤติกรรมของช้างป่าและวิธีการเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับช้างระยะกระชั้นชิด ให้กำนัน ทั้ง 2 ตำบลจัดเวรยามติดตามการเคลื่อนไหวของช้างอย่างใกล้ชิดให้ตั้งกลุ่มไลน์รายงานความเคลื่อนไหวของช้างให้ผู้นำในพื้นที่ทราบข้อมูลเดียวกัน และให้ ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวของช้างผ่านหอกระจายข่าว ให้ราษฎรทราบทุกเช้าและเย็น






จากนั้น ให้ผู้ใหญ่บ้านแจ้ง จนท.เกษตรตำบลสำรวจความเสียหาย พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อขอรับการเยียวยาตามระเบียบ ส่วนในระยะต่อไปขอให้สำนัก อนุรักษ์มี่ 8 ซึ่งเป็นหน่วยที่มีชุดผลักดันช้างจะเข้ามาช่วย วางแผนการผลักดันช้างกลับไปยังป่าภูหลวง โดยจะกำหนดขอบเขตการทำงานเส้นทางผลักดันเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเบื้องต้น สำนักอนุรักที่ 8 ขอนแก่น และสำนักอนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี กำหนดนัดหมายกันประชุมวางแผนผลักดันช้างที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยเร็วที่สุด
ในขณะที่ นายฤชุพันธ์ ศรีภูวงศ์ ผญบ.ศรีภูทอง เล่าว่าจากการที่ชาวบ้านพบเห็นโขลงช้างป่าเข้ามาหากินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ตนเองได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยทราบว่า จนท.ที่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของโขลงช้างป่าจำนวน 7 เชือก มาร่วม 2 เดือนแล้วและทราบว่า 5 เชือกได้เดินทางกลับไปในพื้นที่ข้ามเขาไปยังเขตจังหวัดเลยแล้ว คงเหลืออีก 2 เชือกกำลังเฝ้าติดตามอยู่ห่างๆ และคาดว่าคงจะหวลกลับพื้นป่าเดิมอีกในวันถัดไป
โดยตนเองยังสงสัยว่าโขลงช้างเป็นสัตว์มงคลคู่กับชาติไทย แต่ทำไมเจ้าหน้าที่จึงไม่ดำเนินการหาทางผลักดันให้โขลงช้างกลับไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์ของอุทยาน การปล่อยละเลยอย่างนี้เปรียบเสมือนคนเลี้ยงช้าง ช้างก็กินพืชผลของเกษตรกรก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทำไมไม่ผลักดันให้โขลงช้างกลับคืนเขตพื้นที่อุทยาน นี่เปรียบเสมือนคนเลี้ยงช้างไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง