เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 8 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ บริเวณห้วยวังเดือนห้า ในเขตตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายศุภชัย ลีเขาสูง ปลัดจังหวัดขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการจัดสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่เมืองขอนแก่น





นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในภาพรวมการดำเนินการจัดสร้างฝายชะลอและกักเก็บน้ำในฤดูฝนทั่วทั้งจังหวัด ได้มอบหมายให้ โครงการชลประทานจังหวัด เป็นฝ่ายวางแผน เพื่อชี้เป้าให้กับอำเภอ ภาคีเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าพื้นที่ใดที่เหมาะในการจัดทำฝายชะลอน้ำในลำห้วยต่างๆ โดยเฉพาะลำน้ำหลัก คือ ลำน้ำชี และลำห้วยสาขา ว่าแต่ละแห่งควรจะมีฝายกี่แห่ง ขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายครบ ทั้ง 26 อำเภอจังหวัดขอนแก่น แล้ว
โดยไล่เรียงมาตั้งแต่พื้นที่สูงบนภูเขา มีหน่วยงานสังกัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ครบแล้ว พร้อมทั้งจัดหางบสนับสนุน ส่วนในพื้นที่ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณจะใช้การขอความร่วมมือจากชาวบ้าน โดยหน่วยงานสังกัดกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน จะเป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ และจังหวัดจะสนับสนุนกำลังพลในการปฏิบัติงาน และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่อยู่บนภูเขา ส่วนลำห้วยสาขา ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ครบถ้วนแล้ว และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีภาวะฝนแล้งนาน 3-5 ปี หรือในกรณีที่ไม่เกิดสภาวะภัยแล้งการสร้างฝายชะลอน้ำจะช่วยในการป้องกันน้ำท่วมได้



“สถานการณ์น้ำท่า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือเขื่อนอุบลรัตน์ สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจาก อยู่ในช่วงของการซ่อมแซมเขื่อน มีการระบายน้ำ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำในเขื่อนอยู่ประมาณ 32% และจังหวัดขอนแก่น มีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้แจ้งให้เขื่อนอุบลรัตน์ บริหารน้ำเสมือนอยู่ในสภาวะน้ำน้อย เพื่อเตรียมการรับมือฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ ปัจจุบัน เขื่อนอุบลรัตน์ ระบายน้ำ วันละ 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของเขื่อน ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 14 แห่ง ในพื้นที่ ของกรมชลประทาน มีน้ำอยู่ ประมาณ 44 % ให้บริหารจัดการน้ำในสภาวะน้ำน้อย หรือฝนแล้ง ให้ใช้น้ำ อย่างประหยัด โดยเน้นบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง คาดว่าจะลดลงไม่ตำกว่า 5-10 % เนื่องจากสภาวะฝนแล้ง เกษตรกรต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยมีพื้นที่การเกษตรอยู่ในเขตชลประทานไม่ถึง 10%
ด้านนายจักรพงษ์ เพชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ กล่าวว่า ตำบลบ้านค้อ มีพื้นที่ 122 ตร.กม. มีลำห้วยทั้งหมด 12 ลำห้วย ระยะทางมากกว่า 40 กิโลเมตร ซึ่งจะมีทั้งพื้นที่แห้งแล้ง กันดารในหลายจุด โดยจุดที่ดำเนินสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ที่ห้วยวังเดือนห้า แห่งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากอำเภอเมืองขอนแก่น ประมาณ 60,000 บาท จะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้(9 มิ.ย.66) ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 วัน เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ประชาชนทั้งบ้านโนนลาน และบ้านโคกสี ทั้งสองฟากฝั่ง ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก