เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 3 ก.ค. 2566 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตขอนแก่น อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ,นายกรเอก แสงแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและปฏิบัติการลูกค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ,นายเกรียงศักดิ์ โชยรยา นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้าน Smart ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรม และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โครงการร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้าน Smart บน Digital platform





อ.ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า ในการลงนาม MOU ในการทำงานร่วมกับ NT และสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้าน Smart ในการทำงานที่เป็นเชิงรูปธรรม โดยนำเอาเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน smart farming เพื่อนำมาใช้ในวิทยาลัยการเกษตร รวมทั้งให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยร่วมกับสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้าน Smart ที่จะนำเอานวัตกรรมที่ทำร่วมกันไปใช้ในงานจริง


นายกรเอก แสงแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและปฏิบัติการลูกค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) กล่าวว่า เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบอาชีพเช่น Smart Farm เพื่อให้ชาวอีสานนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
“ทั้งนี้การพัฒนาต่อยอดบริการจะต้องอาศัยหลักการด้านวิชาการองค์ความรู้ในงานวิจัยต่างๆ จากคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์และความสามารถ มีความรู้ที่หลากหลาย และสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้าน Smart ซึ่งมีองค์ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้นำเอาเทคโนโลยีไปสู่การใช้งานจริง เพื่อให้ชาวอีสานได้รับโอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนและสังคม ต่อไป”
ด้านนายเกรียงศักดิ์ โชยรยา นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้าน Smart กล่าวถึง ผลงานนวัตกรรมการประดิษฐ์เครื่องควบคุมอากาศความชื้น ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ โดยอาจารย์ของ มทร.อีสาน จัดทำขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการควบคุมอากาศความชื้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนแก่เกษตรกรและประชาชน โดยจัดทำเป็น Big Data ที่ NT ให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าในแต่ละจุด แต่ละที่ แต่ละตำแหน่งมีค่าความชื้น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีค่าอยู่ในระดับที่เท่าใด อยู่ในพื้นที่ใด มาจากไหน เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้จริง