เกษตรจังหวัดยโสธรส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตหอมแบ่งบ้านนาประเสริฐ ต.โพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร ปลูกหอมแบ่งส่งจำหน่ายสร้างรายได้หลักล้านต่อปี








“ต้นหอม” หรือ “หอมแบ่ง” เป็นพืชอายุสั้นปลูกได้ตลอดทั้งปี เป็นผักที่มีส่วนสำคัญในการปรุงอาหาร ทำให้ความต้องการใช้ในแต่ละวันสูง สำหรับเกษตรกรที่อยากปลูกหอมแบ่งเพื่อสร้างรายได้ ควรมีการศึกษาการตลาดและวางแผนจัดการปลูกให้ดี เพราะการวางแผนและเทคนิคการปลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ
กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตหอมแบ่งบ้านนาประเสริฐ หมู่ 14 ตำบลโพนงาม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาปลูกหอมแบ่งว่าเริ่มต้นจากเกษตรกรในหมู่บ้านมีอาชีพทำนา ทำสวน เป็นหลัก และต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว การทำนาจึงทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ทำให้มีรายได้ที่ไม่ต่อเนื่อง และหากปีใดข้าวราคาตกต่ำก็ทำให้เกษตรกรขาดทุน เมื่อปี 2546 สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอกุดชุม ได้ดำเนินโครงการพระราชดำริ โดยฝึกอบรมเกษตรกรตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร “โรงเรียนเกษตรกรผู้ผลิตหอมแบ่ง” ซึ่งได้จัดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมแปลงปลูกหอม จนถึงการตลาด หลังจากจบหลักสูตร 6 เดือน มีเกษตรกรบางรายหันมาปลูกหอมแบ่งเป็นอาชีพเสริม และขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรในหมู่บ้านหันมาปลูกหอมแบ่งกว่า 20 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกหอมแบ่ง ประมาณ 100 ไร่ และหอมแบ่งกลายเป็นพืชสร้างรายได้หลักให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหอมแบ่งเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวไว ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากใช้เวลาเพียง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว สำหรับเทคนิคการปลูกหอมแบ่งเกษตรกรจะมีการวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตออกขายได้ตลอดทั้งปีโดยหอมแบ่งสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่จะมีช่วงราคาที่แตกต่างกันออกไป หากปลูกช่วงฤดูร้อน (เดือนเมษายน) จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ราคาจะสูงมาก ส่วนฤดูฝนราคาดีปานกลาง แต่หอมแบ่งจะไม่ทนฝน หอมจะเน่าและเป็นโรคได้ง่าย และในฤดูหนาวราคาจะถูก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะ ส่วนต้นทุนการผลิตหอมแบ่งนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 -50,000 บาท/ไร่ ขายได้ประมาณ 120,000 บาท/ไร่ มีกำไร 60,000 บาท/ไร่ อีกทั้งยังส่งเสริมการร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้าน โดยการจ้างล้างหอมแบบเหมาจ่ายกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่ว่างงาน และผู้สูงอายุ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน








ทั้งนี้ เกษตรกรได้มีการพัฒนาต่อยอดการผลิตหอมแบ่งด้วยการเพิ่มคุณภาพผลผลิตจนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอกุดชุมเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษากลุ่มเกษตรกร ด้านการจัดการแปลง การป้องการโรคและแมลง รวมถึงจัดเตรียมทีมงานเพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เชิงลึกให้ครอบคลุมทั้งมิติของ พื้นที่-คน-สินค้า และจัดทำแผนความต้องการของชุมชน กำหนดกิจกรรมและแผนการปฏิบัติงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการจัดหางบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เพื่อพัฒนากิจการของกลุ่มในเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต และการเชื่อมโยงตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ติดตามประเมินผล สรุปบทเรียนเรียนรู้ กำหนดแนวทางเพื่อพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป