พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าส่ง ค้าปลีกข้าวสาร ป้องปรามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสูงเกินจริง หลังอินเดียระงับการส่งออกข้าว รวมถึงทั่วโลกเจอปัญหาเอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง พบราคาข้าวสารเกือบทุกชนิดปรับขึ้นราคา ผู้ประกอบการเผยเป็นไปตามกลไกเพราะผู้ค้าส่งรายใหญ่ปรับขึ้น









วันที่ 17 ส.ค. 2566 นายสุทธิศักดิ์ พรมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าส่ง และค้าปลีกข้าวสาร ในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตามนโยบายของกรมการค้าภายใน ที่ต้องการให้สำนักงานพาณิชย์ทุกจังหวัด ติดตามสถานการณ์ซื้อขายข้าวสาร เนื่องจากช่วงนี้ราคาข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคอีสาน มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลง ประกอบกับประเทศอินเดียระงับการส่งออกข้าวสู่ประเทศอื่น, รวมถึงภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาข้าวจึงปรับตัวสูงขึ้น
พาณิชย์จังหวัด กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าส่ง ค้าปลีกข้าวสาร 3 แห่งในตัวเมืองบุรีรัมย์วันนี้ พบว่าร้านขายส่งข้าวสารจะรับข้าวสารมาจากทั้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์, ส่วนข้าวเหนียวส่วนใหญ่จะรับมาจากภาคเหนือ ในส่วนของราคาข้าวหอมมะลิ อยู่ที่ 32-34 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว 2-3 บาท ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นราคานั้นอาจไม่สูงมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม ผู้ประกอบการไม่กล้าขึ้นราคาสูงเกินเจ้าอื่น เพราะการแข่งขันสูง ส่วนผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตที่เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง โดยราคาข้าวสารในช่วงนี้เริ่มปรับตัวตามราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น เฉลี่ยประมาณ15-16.90 บาท/กิโลกรัม ตกตันละ 15,300-16,900 บาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการไม่ขึ้นราคาสูงเกินพอดี หากมีประกาศควบคุมราคาสินค้าจากกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยการควบคุมราคาสินค้าและบริการ ก็พร้อมที่จะดำเนินการคุมเข้มราคาสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้ซื้อข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรม หากพบว่ามีการกักตุนข้าว จงใจปั่นราคาข้าว ขายข้าวในราคาสูงเกินจำเป็น จะดำเนินการทาง พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการทันที
ด้านนายอนุชิต ทองกู้เกียรติกูล ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ระบุว่า หลังจากที่ประเทศอินเดียได้มีการระงับการส่งออก รวมถึงผลผลิตในปีนี้น้อยกว่าปีก่อน ผู้ประกอบการมีการแย่งซื้อข้าวเปลือก ทำให้ข้าวหอมมะลิขัดขาวปรับฐานราคาเพิ่มขึ้น โดยปลายเดือนกรกฎาคม ราคาข้าวขาวของ กทม. อยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท ถึงช่วงวันแม่ราคามีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 22 บาท และขณะนี้มีการปรับลดเหลือไม่ต่ำกว่า 20 บาท หากอินเดียยังไม่ส่งออกข้าว ราคาข้าวในประเทศก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่มองว่า ราคาข้าวอาจสูงขึ้นในระยะสั้น เพราะหากผลผลิตข้าวนาปีทั้งของประเทศไทย,กัมพูชา,อินเดีย,เวียดนามออกสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม ก็อาจทำให้ราคาข้าวต่ำลง ทั้งนี้พร้อมให้ความร่วมมือกับทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หากมีการประกาศมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค